มบส.เจ้าภาพ 129 ปี สถาปนากรมการฝึกหัดครูฯ อว.พร้อมดันเป็นราชภัฏเป็น ม.ในกำกับ คืบหน้าเกณฑ์ใช้ผลงานเพื่อชุมชนขอตำแหน่ง ศ.ได้
ฤกษ์ดีครบรอบ 129 ปี วันคล้ายวันสถาปนากรมการฝึกหัดครูฯ โดย มบส.เป็นเจ้าภาพ รมว.อว.ลั่น พร้อมส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ เผยอยู่ระหว่าง จัดทำเกณฑ์ และคู่มือ เพื่อประกาศใช้ กรณีอาจารย์ราชภัฏขอตำแหน่งทางวิชาการ ผศ. รศ. และ ศ. ผ่านผลงานทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนพื้นที่แทนตำราและงานวิจัย ด้านอธิบการบดี มบส. เตรียมพร้อมพัฒนาคณาจารย์ รับมือยุคใหม่ New Normal
วันที่ 29 ก.ย. 2564 มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) ในฐานะเจ้าภาพ นำโดย รศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และ ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดี มบส. ร่วมกับ มูลนิธิมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่ง จัดงาน “ครบรอบ 129 ปี วันคล้ายวันสถาปนากรมการฝึกหัดครู และการสถาปนาการฝึกหัดครูไทย” ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว) เป็นประธานในพิธี พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “พลังครูไทยในยุค New Normal” โดยมีผู้เข้าร่วมงาน ณ มบส.ประมาณ 50 คน และทางออนไลน์ ผ่านแอพพลิเคชัน ZOOM ประมาณ 2,000 คน ประกอบด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา นักศึกษาระดับปริญญาตรี ระดับบัณฑิตศึกษา และศิษย์เก่า มบส.
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวว่า ขอชื่นชมชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่มีความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ ผ่านการจัดการมายาวนานถึงร้อยกว่าปี และแม้ว่าสถานการณ์ โรคระบาดโควิด 19 จะทำการใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงในแบบ New Normal ที่มักใช้มักใช้เทคโนโลยีมาเป็น เครื่องมือในการช่วยอำนวยความสะดวก แต่ตนคิดว่าเทคโนโลยีไม่สามารถมาทดแทนครูได้ ดังที่ พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานเนื่องในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2539 ว่า “…สมัยนี้มีเทคโนโลยีสูง ทำให้สามารถที่จะทำกิจการโรงเรียน กิจการสั่งสอน แพร่ออกไปได้มากกว่า แต่ไม่มีอะไรแทนการอบรมไม่มีผู้ที่บ่มนิสัย…แม้จะมีเทคโนโลยีชั้นสูง แต่ว่าที่จะอบรม โดยใช้สื่อที่ก้าวหน้า ที่มีเทคโนโลยีสูงนี่ยากที่สุดที่จะอบรมบ่มนิสัยด้วยเครื่องเหล่านี้ ฉะนั้นไม่มีอะไรแทนคนสอนคน…”
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าวต่ออีกว่า ความสำคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฎต่อระบบการศึกษาของไทย ด้วยจุดแข็งด้านการสอน การศึกษา และมีความใกล้ชิดกับท้องถิ่นและชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฎจึงเหมาะสำหรับอยู่ในกลุ่ม การพัฒนาท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งเป็น 1 ใน 6 กลุ่มสถาบันอุดมศึกษา ที่ อว.ได้แบ่งประเภทไว้ และได้มอบนโยบายให้ นำจุดแข็งดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะประโยชน์ต่อท้องถิ่นและสังคม ซึ่งแม้ว่าประโยชน์ต่อท้องถิ่น และสังคมบางอย่างนั้น ไม่เหมาะในการนำมาเขียนเป็นตำราหรือทำเป็นงานวิจัย แต่ผลงานที่เป็นรูปธรรมในชุมชนพื้นที่อาจจะ มีประโยชน์มากกว่างาน ที่เป็นตำราหรือเป็นงานวิจัยเสียอีก
นอกจากนี้ ในส่วนของนโยบายที่ให้อาจารย์วิทยาลัยราชภัฎใช้ผลงานที่ทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนหรือพื้นที่ ผลงานด้าน ศาสนาและปรัชญา ผลงานศิลปะ งานสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการสอน มาขอตำแหน่งศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ แทนการใช้ตำราหรืองานวิจัยในรูปแบบเดิม ขณะนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการ พลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาแล้ว ขั้นตอนต่อไปทาง อว.จะจัดทำเกณฑ์และคู่มือในรายละเอียดเพื่อประกาศใช้ เห็นได้ว่าทั้ง การแบ่งประเภทของมหาวิทยาลัย และการขอตำแหน่งทางวิชาการรูปแบบใหม่ ล้วนเอื้อต่อความเจริญก้าวหน้าของ มหาวิทยาลัยราชภัฏ
“ผมให้นโยบายว่าให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับได้ แต่ต้องใช้ชื่อมหาวิทยาลัยราชภัฎต่อไป ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีก็รับทราบ และเห็นด้วยอย่างยิ่ง” รมว.อว. ระบุ
ด้าน ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดี มบส. ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่ง ให้เป็นเจ้าภาพการจัดงานในปีนี้ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ว่า เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกใน พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้ทรงสถาปนาโรงเรียนการฝึกหัด อาจารย์ ในปี พ.ศ. 2435 และพระมหากรุณาธิคุณแห่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานนาม “ราชภัฏ” ในปี พ.ศ. 2535 และตราพระราชลัญจรซึ่งเป็นตราประจำ พระองค์ ให้ป็นสัญลักษณ์ของสถาบันราชภัฏในปี พ.ศ. 2538 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทาน พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยราชภัฏในปี พ.ศ. 2547 และเพื่อสืบสานวัฒนธรรมของการฝึกหัดครู รวมถึงรับฟัง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกี่ยวกับ แนวคิดและสาระสำคัญในบทบาทหน้าที่ของครู ในสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ที่จะนำมาพัฒนาคณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของ มบส.ต่อไป
ภายในงานยังมีกิจกรรมที่สำคัญ คือพิธีสงฆ์ พิธีถวายเครื่องราชสักการะพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิธีเปิดงาน และกิจกรรมเชิงวิชาการ โดย ศ.ดร.พระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยูรวงศาวาส วรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ รศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จ เจ้าพระยา เป็นประธานฝ่ายฆราวาส.
ที่มา: เอ.ยู.คอมมิวนิเคชั่น จำกัด