“มหัศจรรย์ปอดเทียมด้วยมือหนู” ไอเดียสอนวิทย์ฯ คว้าเหรียญทอง Science Learning Designer
“อยากให้เด็กๆ ได้รับความรู้ด้วยตัวเองอย่างแท้จริง ไม่ใช่ผ่านการสอนวิทยาศาสตร์แบบแห้งๆ จากภาพนิ่ง หรือคำพูดของครูอย่างเดียว ยิ่งในยุคโควิด 19 แพร่ระบาด ที่มีความเครียดจากการเรียนออนไลน์มากอยู่แล้ว ถ้าพวกเขา ได้ลงมือทำ ได้ช่วยกันค้นหาคำตอบทางวิทยาศาตร์ไปด้วยกันกับครูผู้สอน ใช้อุปกรณ์ที่หาได้ภายในบ้านหรือรอบตัว น่าจะช่วยให้สนุกกับการเรียนมากขึ้น เข้าใจวิทยาศาสตร์ได้มากขึ้น เหมือนที่เราเคยเรียนในชั้นมัธยมปลาย”
สารตั้งต้นจากความตั้งใจดีของ ณัฐวิภา ทนาวัน หรือ จิ๋ว นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) ที่ในวันนี้เธอได้ก้าวสู่อาชีพครู ที่ใฝ่ฝันแม้จะเป็นช่วงการจำลองด้วยตำแหน่ง ครูฝึกสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนจันทร์ประดิษฐาราม วิทยาคม เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและจิตวิญญาณความเป็นครูอย่างเต็มเปี่ยม ทำให้ณัฐวิภาคว้า รางวัลไอเดียระดับเหรียญทอง Science Learning Designer ผู้สร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบการเรียนรู้ จาก สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และ insKru พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอนคุณครูทั่วประเทศไทย ภายใต้ โครงการวิทย์ยายุทธ ภารกิจตามหาไอเดียการออกแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ผ่านผลงานการสอนวิทยาศาสตร์ เพื่อนักเรียน “มหัศจรรย์ปอดเทียมด้วยมือหนู” ที่เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
ณัฐวิภา เล่าว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ส่งผลต่อการทำกิจกรรมการทดลอง ของนักเรียน เนื่องจากไม่สามารถมาทำการทดลองในห้องปฏิบัติการที่โรงเรียนได้ อีกทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลองยังมี ราคาแพงและหาซื้อได้ยาก จึงมีแนวคิดว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เรียนในรูปแบบใด นักเรียนของครูจิ๋วก็จะสามารถ ทำการทดลองและเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยมีครูจิ๋วเป็นที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำต่างๆ แก่นักเรียน
ดังนั้น การทดลองทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับนักเรียนผ่านการเรียนการสอนออนไลน์ใน 5 ขั้นตอน แบบครูจิ๋วจึง เริ่มขึ้น โดยขั้นตอนแรกครูจิ๋วเปิดให้นักเรียนร่วมกันออกความคิดเห็น หาวัสดุรอบตัวที่สามารถนำมาดัดแปลงแทนอุปกรณ์ การทดลอง เพื่อช่วยผู้ปกครองประหยัดค่าใช้จ่าย และได้เป็น 1.หลอดแบบงอแทนหลอดรูปตัว Y 2.ลูกโป่งจำนวน 3 ลูก ซึ่งอาจจะมีขนาดใหญ่เท่ากันทั้ง 3 ลูก หรืออาจจะมีลูกเล็กจำนวน 2 ลูกและลูกใหญ่อีก 1 ลูก ก็ได้ตามสะดวกว่า บ้านของใครมีวัสดุอย่างไร โดยจะนำลูกโป่ง จำนวน 1 ลูกมาใช้แทนแผ่นยาง 3.แก้วหรือขวดพลาสติกแทนครอบพลาสติก และ 4.ดินน้ำมันแทนยางวงแหวน
จากนั้นขั้นตอนที่ 2 ทั้งครูและนักเรียนได้ร่วมกันประดิษฐ์แบบจำลองการทำงานของปอด พร้อมให้นักเรียนโชว์ แบบจำลองปอดที่ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อตรวจแก้ไขและให้คำแนะนำว่าทำสอดคล้องกับการทำงานของปอดหรือไม่ มาถึง ขั้นตอนที่ 3 คือการร่วมกันทดลองและสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ส่วนขั้นตอนที่ 4 ครูจิ๋วและนักเรียนได้ร่วมกัน อภิปรายผลการทดลอง โดยให้ใช้เกมหมุนวงล้อสุ่มชื่อนักเรียนเพื่อนำเสนอการทดลองจำนวน 2 คน ว่าการทดลองเป็น อย่างไร ส่วนต่างๆ ของอุปกรณ์เหล่านั้นเปรียบเสมือนอวัยวะใดบ้าง ซึ่งนักเรียนของครูจิ๋วสามารถเปรียบเทียบวัสดุที่นำ มาใช้กับอวัยวะของระบบหายใจได้ดังนี้ ลูกโป่งใหญ่เปรียบเสมือนกะบังลม ลูกโป่งลูกเล็กจำนวน 2 ลูก เปรียบเสมือนปอด ทั้ง 2 ข้าง และได้เรียนรู้ว่าระบบการทำงานของปอดเป็นอย่างไร สำคัญต่อร่างกายอย่างไร และขั้นตอนสุดท้ายคือการ โชว์ผลงานด้วยการส่งรูปภาพหรือคลิปวีดิโอมาให้ครูจิ๋ว เพื่อใช้ในการประเมินผลการทำกิจกรรม ซึ่งครูจิ๋วบอกว่านักเรียน ให้การตอบรับเป็นอย่างดี
“ดีใจกับรางวัลที่ได้รับค่ะ ที่ดีใจไม่ใช่เรื่องรางวัลเหรียญทองอย่างเดียว แต่เป็นแนวคิดและรูปแบบการทดลอง วิทยาศาสตร์ที่อาจช่วยจุดประกายให้ครูฝึกสอนท่านอื่นๆ ปิ๊งไอเดียนำไปปรับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ให้สนุกมากขึ้น ในช่วงเรียนออนไลน์ ซึ่งต้องขอบคุณอาจารย์กวาง ดร.ธนิดา สุจริตธรรม อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ สาขาวิชา วิทยาศาสตร์ มบส. ที่เล็งเห็นว่าชุดการทดลองมหัศจรรย์ปอดเทียมด้วยมือหนูนั้นน่าสนใจ และผลักดันให้ส่งเข้าประกวด ในโครงการนี้ รวมถึงระบบการเรียนการสอนที่มีคุณภาพของทางคณะฯ ที่ทำให้เรายิ่งรักในเส้นทางการเป็นครูวิทยาศาสตร์ และที่ขอบคุณมากๆ คือครูสอนวิทยาศาสตร์ในชั้น ม.ปลาย ที่กลายเป็นไอดอลเป็นแรงบันดาลใจให้เรามีวันนี้” ณัฐวิภา กล่าว
ที่มา: เอ.ยู.คอมมิวนิเคชั่น