กระทรวง อว. จับมือก.สาธารณสุข และม.มหิดลเปิดตัว Medical AI Data Platform ฐานข้อมูลภาพทางการแพทย์กว่า 2.2 ล้านภาพ

กระทรวง อว. จับมือก.สาธารณสุข และม.มหิดลเปิดตัว Medical AI Data Platform ฐานข้อมูลภาพทางการแพทย์กว่า 2.2 ล้านภาพ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ พร้อมด้วยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่าย Medical AI Consortium เปิดตัว “แพลตฟอร์มข้อมูลกลางทางการแพทย์” (Medical AI Data Platform) อย่างเป็นทางการ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศข้อมูลที่แข็งแกร่ง รองรับการพัฒนานวัตกรรม AI ทางการแพทย์สำหรับคนไทย

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ผ่านนโยบาย “อว. for AI” ที่มุ่งสร้างระบบนิเวศ AI ที่ครบวงจร โดยเฉพาะด้านการแพทย์ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่ AI จะช่วยเพิ่มความแม่นยำ รวดเร็ว และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพ การสนับสนุนการจัดตั้ง Medical AI Consortium และการพัฒนา Medical AI Data Platform ถือเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ

แพลตฟอร์มดังกล่าว พัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ประกอบด้วยเทคโนโลยีที่สนับสนุนกระบวนการพัฒนา AI ทางการแพทย์อย่างครบวงจร ได้แก่ ส่วนบริหารจัดการข้อมูล ส่วนพัฒนาและฝึกสอน AI และส่วนบริการ AI โดยได้รวบรวมภาพทางการแพทย์แล้วกว่า 2.2 ล้านภาพ ครอบคลุม 8 กลุ่มโรคสำคัญ เช่น โรคทรวงอก มะเร็งเต้านม โรคตา โรคในช่องท้อง โรคผิวหนัง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคกระดูกพรุน

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า นักวิจัยเนคเทคได้พัฒนาเทคโนโลยีอย่าง RadiiView และ NomadML ที่จะช่วยปลดล็อกให้นักวิจัยและแพทย์ไทยสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม AI ได้เอง ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ นำไปสู่ AI ทางการแพทย์ที่ตอบโจทย์บริบทของประเทศไทยอย่างแท้จริง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีศึกษาการใช้ AI ในการคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ที่พบว่า AI มีความไวสูงถึงร้อยละ 97 เทียบกับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความไวอยู่ที่ร้อยละ 74 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ AI ในการช่วยคัดกรองโรคได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความสำเร็จของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลที่ร่วมกับบริษัทสตาร์ตอัพพัฒนา AI สำหรับอ่านผลภาพเอกซเรย์ทรวงอก ซึ่งได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว ช่วยลดต้นทุนเมื่อเทียบกับการซื้อโปรแกรม AI จากต่างประเทศ

ปัจจุบัน Medical AI Consortium มีสมาชิกเข้าร่วมขับเคลื่อนรวม 6 หน่วยงาน และเชิญชวนหน่วยงานทางการแพทย์ สถาบันการศึกษา นักวิจัย และภาคเอกชน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศนี้ ภายใต้แนวคิด “ร่วมแชร์ เชื่อม ใช้” เพื่อขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขไทยให้ก้าวหน้าต่อไป

Tags :

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ