
สอวช. ผนึก มจธ. เปิดหลักสูตร STIP รุ่นที่ 7 มุ่งผลิตนักออกแบบนโยบายตอบโจทย์ประเทศ
สอวช. ร่วมกับ มจธ. เปิดหลักสูตร STIP รุ่นที่ 7 มุ่งผลิตนักออกแบบนโยบายตอบโจทย์ประเทศ เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง หนุนสร้างเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดขึ้นได้จริง
ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า สอวช. ร่วมกับ สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดหลักสูตรการออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รุ่นที่ 7 (STI Policy Design: STIP07)
ดร.สุรชัย กล่าวว่า สอวช. และ STIPI มจธ. ร่วมกันจัดการอบรมนี้ จากการเล็งเห็นความสำคัญของการทำนโยบาย และต้องการสร้างคนทำนโยบายให้มีจำนวนมากขึ้น โดยมุ่งเน้นถ่ายทอดประสบการณ์การทำนโยบาย และแนวทางการผลักดันนโยบายไปสู่การใช้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งที่ผ่านมา สอวช. มีบทบาทเป็นเสมือนมันสมอง หรือ think tank ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และมีการทำงานร่วมกับพันธมิตรอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ การเข้าร่วมในหลักสูตรฯ ยังช่วยสร้างเครือข่ายนักนโยบาย ทั้งจากหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) หน่วยงานให้ทุน หน่วยงานวิจัยภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน
ด้าน ผศ.ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา รองอธิการบดีฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์ มจธ. กล่าวว่า อยากเห็นวงการ วทน. มีคนทำนโยบายดี ๆ ออกมามากขึ้น เชื่อว่านโยบายเหล่านี้จะสร้างผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศและพัฒนาอุตสาหกรรมโดยตรงและทันท่วงที ที่ผ่านมามีผู้ร่วมหลักสูตรแล้วมากกว่า 300 คน กระจายอยู่ในภาคส่วนต่าง ๆ เรามีศิษย์เก่ามากมายที่จะช่วยพัฒนาประเทศร่วมกัน ทั้งนี้การพัฒนาประเทศเป็นเรื่องของทุกคน อยากเห็นประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในรุ่นเรา
ดร.สุชาต อุดมโสภกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า การจัดหลักสูตรนี้เพื่อพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเรื่องการออกแบบนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) และนโยบายสาธารณะ ให้สอดคล้องกับบริบทการทำงานของบุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและนอกระบบ อววน. ตลอดจนภาคเอกชน เพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนานโยบายผ่านการจัดทำข้อเสนอนโยบายจริง เพื่อให้ผู้เข้าอบรมใช้ความรู้ที่ได้รับในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดเครือข่ายนักพัฒนานโยบายด้าน อววน. ของประเทศ เพื่อร่วมการผลักดันนโยบายที่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
ด้านดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ผู้อำนวยการ STIPI มจธ. กล่าวถึงแนวคิดการออกแบบและเรียนรู้ในหลักสูตร โดยจะเริ่มตั้งแต่การมองเห็นปัญหา เข้าใจโอกาส และความท้าทายของประเทศ จากนั้นคือการทำความเข้าใจเครื่องมือ วิเคราะห์และออกแบบนโยบายได้ ก่อนจะเข้าสู่การทำโครงงานกลุ่ม ปฏิบัติจริง ดูงาน และนำไปสู่การสร้างภาคีเครือข่ายในท้ายที่สุด โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมอบรมจากทั้งหมด 36 หน่วยงาน รวม 59 คน
ดร.สุรชัย ยังได้ร่วมบรรยายในประเด็น “มองกว้าง มองไกล: Foresight กับประเด็นท้าทายในการพัฒนาประเทศไทยด้วย อววน.” โดยได้ฉายภาพให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว การวางนโยบายแบบเดิมจึงอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่เห็นในในปัจจุบัน ได้แก่ วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ โรคระบาด สังคมสูงวัย สงครามทางการค้า จากการใช้เครื่องวิเคราะห์สัญญาณอนาคตของโลก พบว่ามีสัญญาณที่ไทยน่าจับตามอง อาทิ สงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่แข่งขันกันในเรื่อง AI ชิป IoT ซึ่งไทยเป็นผู้เล่นสำคัญในห่วงโซ่อุปทาน วิกฤตระบบดูแลผู้สูงอายุ จากสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือการที่ AI สร้างและพัฒนาระบบของตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งมนุษย์ เป็นต้น จากการเปลี่ยนแปลงและสัญญาณสำคัญที่เกิดขึ้น ทำให้ไทยต้องมี “เข็มทิศอนาคต” เพื่อชี้ทางว่าประเทศควรลงทุนอะไร สร้างคนแบบไหน และพัฒนาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมไปเพื่ออะไร ซึ่งจุดเริ่มต้นของเข็มทิศนี้คือ การมองอนาคตเชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic foresight
ดร.สุรชัย ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการวิเคราะห์อนาคต คือการรับรู้แนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงล่วงหน้า ช่วยให้สามารถคาดการณ์แนวโน้มสำคัญได้ มีการเตรียมความพร้อมต่อความไม่แน่นอน และมีการตัดสินใจที่มีพื้นฐานจากข้อมูลและแนวโน้มที่ได้รับการวิเคราะห์อย่างรอบด้าน นอกจากนี้ยังถือเป็นการพัฒนานวัตกรรม การสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และการส่งเสริมความร่วมมือระดับโลกและการทูตวิทยาศาสตร์ด้วย
หากวิเคราะห์ถึงสัญญาณอนาคตโลกด้าน อววน. มองได้ทั้งในด้านการเปลี่ยนแปลงสังคม ที่ในอนาคตการศึกษาพื้นฐานอาจกลับสู่หลักเดิม ขณะที่ระดับสูงจะใช้แพลตฟอร์มออนไลน์และ AI มากขึ้น ด้านการเปลี่ยนแปลงของโลก AI และการคำนวณเชิงควอนตัมจะเข้ามากำหนดอนาคตของเศรษฐกิจ โลกอาจเผชิญภาวะชะงักงัน การกีดกันทางการค้า หรือการเปลี่ยนขั้วอำนาจเศรษฐกิจใหม่ ด้านการเปลี่ยนแปลงขององค์กร มนุษย์และ AI จะมีการทำงานร่วมกัน โครงสร้างองค์กรจะเรียบง่าย ตัดสินใจเร็ว มีทีมที่ยืดหยุ่น ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และด้านการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ควอนตัมคอมพิวเตอร์และการจัดเก็บข้อมูลในดีเอ็นเอ (DNA storage) จะเข้ามาพลิกโฉมข้อมูล จาก IoT จะพัฒนาเป็น IoE (Internet of Everything) แต่ก็อาจะเสี่ยงต่อการถูกละเมิดข้อมูลจากการถอดรหัสขั้นสูงได้
“ในมุมของคนทำนโยบายต้องมองกว้าง มองไกล บางเรื่องต้องมองลึกลงไป เพื่อทำนโยบายให้ตอบโจทย์ โดยจะต้องเตรียมพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง และกลับมาทบทวนนโยบายที่ทำไว้อย่างสม่ำเสมอด้วยเช่นกัน ที่สำคัญจะต้องทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเห็นความสำคัญกับนโยบายที่จะทำ และต้องเชื่อมโยงกับการจัดสรรงบประมาณในการขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดขึ้นได้จริงด้วย” ดร.สุรชัย กล่าวปิดท้าย
ด้าน ดร.สิริพร พิทยโสภณ รองผู้อำนวยการ สอวช. ได้ร่วมบรรยาย เรื่อง “ประเด็นท้าทายในการพัฒนาประเทศไทยด้วย อววน.” ในมุมของตัวอย่างนโยบาย โดยได้กล่าวถึงกรอบแนวคิดการออกแบบนโยบาย อววน. ที่มุ่งเน้นทั้งด้านเศรษฐกิจนวัตกรรม เศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะนำไปสู่เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีดุลยภาพ แนวทางการขับเคลื่อนเริ่มตั้งแต่การสร้างผู้เล่นหลัก ในระบบ ตัวอย่างการดำเนินการที่ สอวช. ทำอยู่ คือการเร่งเพิ่มจำนวนธุรกิจการฐานนวัตกรรม (Innovation-Driven Enterprise: IDE) เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มีแนวคิดการจัดทำ E-Commercial and Innovation Platform (ECIP) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในการต่อยอดการพัฒนาสินค้าสู่ตลาดได้จริง มีกลไก University Holding Company ให้มหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยของรัฐสามารถร่วมลงทุนกับเอกชนได้ และเกิดการนำผลงานวิจัยออกไปจัดตั้งเป็นธุรกิจ ในระดับชุมชน มีการสร้างเครือข่ายธุรกิจชุมชน ผ่านกลไก Social Integrated Enterprise (SIE) เป็นกลไกกลางในการสร้างและยกระดับเครือข่ายธุรกิจชุมชนให้เกิดการจัดการบริหารธุรกิจชุมชนร่วมตลอดห่วงโซ่คุณค่า นอกจากนี้ยังมีกลไกการนำ อววน. เข้าไปเพิ่มศักยภาพจังหวัด การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและพื้นที่ มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารอนาคต (Future food) โดยมีแนวทางขับเคลื่อนยกระดับผู้ประกอบการและดึงดูดการลงทุน สร้างกลุ่มวิจัยและพัฒนา รวมถึงสร้างระบบมาตรฐานเพื่อพัฒนาตลาด
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการพัฒนาย่านและเมืองวัฒนธรรมด้วยกลไกท้องถิ่นและประชาคมพื้นที่ การทำระบบข้อมูลสารสนเทศด้านวัฒนธรรมและแผนที่วัฒนธรรม สร้างให้เกิดผู้ประกอบการในพื้นที่ต่อยอดจากทุนทางวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่ และอีกบทบาทสำคัญของ สอวช. คือการสนับสนุนและร่วมพัฒนากฎหมาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนนโยบายและพัฒนาระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง
