“มทร.ล้านนา” ปลื้มบัณฑิตมีงานทำร้อยละ 73.38

“มทร.ล้านนา” ปลื้มบัณฑิตมีงานทำร้อยละ 73.38

“อธิการบดีอุเทน” เผย มทร.ล้านนาปรับตัว ปรับหลักสูตรทันสมัย ร่วมมือภาคเอกชน ภาครัฐ พัฒนาบัณฑิตรุ่นใหม่ ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ระบุผลสำรวจการมีงานทำปี 66 พบบัณฑิตมีงานทำแล้วร้อยละ 73.38 พร้อมปั้น 3 ทักษะ ภาษา ไอที-AI และความเป็นผู้ประกอบการให้แก่นักศึกษาในทุกคณะ

รศ.ดร.อุเทน คำน่าน รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ล้านนา เปิดเผยว่ามทร.ล้านนามีการปรับหลักสูตรให้มีความทันสมัย และมีความร่วมมือกับภาคเอกชน และภาครัฐในการพัฒนางานวิจัย และนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนาเพิ่มเติมทักษะให้แก่ทั้งในส่วนของนักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย และกลุ่มคนวัยทำงาน ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้น จากการปรับตัวของมทร.ล้านนาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้นักศึกษาหรือบัณฑิตที่จบจากมทร.นั้นส่วนใหญ่จะมีงานทำและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน

รศ.ดร.อุเทน กล่าวต่อว่า ข้อมูลสถานการณ์ทำงานของบัณฑิต ปีการศึกษา 2566ซึ่งมีจำนวนบัณฑิตทั้งหมด 3,214 คน โดยมีผู้มาแสดงข้อมูลในระบบ 1,202 คน พบว่ามีผู้ที่ได้งานทำ หรือทำงาน 882 คน คิดเป็นร้อยละ73.38 กำลังศึกษาต่อ จำนวน 15 คน คิดเป็นร้อยละ 1.25 ไม่ได้ทำงานและกำลังศึกษาต่อ 4 คน คิดเป็นร้อยละ0.33 และยังไม่มีงานทำ 301 คน คิดเป็นร้อยละ25.04 โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังไม่ได้ข้อมูลทั้งหมด

ทั้งนี้ มทร.ล้านนา จะให้ความสำคัญในการเรื่องของการปรับตัว การเรียนการสอน และหลักสูตรให้มีความสมัยใหม่ๆ เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เพราะเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ที่มีการเรียนการสอน หลักสูตรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมจำนวนมาก อีกทั้งตอนนี้เทรนด์การทำงาน ตลาดงานมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีมากขึ้น คนต้องทำงานควบคู่กับเทคโนโลยีมากขึ้น

“หลักสูตรไหนไม่ใช่เทรนของโลก ของตลาดงานในอนาคต เราพยายามจะปิดหลักสูตรเหล่านั้น และเปิดหลักสูตรใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์กับความต้องการของภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม โดยจะเน้นการเรียนรู้ที่เพิ่มเติมสมรรถนะ เพราะต้องยอมรับว่าความรู้ตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่การทำให้เด็กมีสมรรถนะ มีทักษะติดตัวสามารถทำให้เขาไปปรับใช้ในการทำงาน และพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ ขณะเดียวกันก็มีการเปลี่ยนการประเมินวัดสมรรถนะ ที่เน้นรายภาคเรียน 4 ปี วัดสมรรถนะ 8 ครั้ง และมีการวัดสมรรถนะในแต่ละรายวิชาตามเป้าหมายที่กำหนด เพื่อให้บัณฑิตที่จบออกไปรองรับความต้องการของผู้ประกอบการได้100%” รศ.ดร.อุเทน กล่าว

รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา กล่าวด้วยว่าหลายๆ บริษัทได้มาหารือกับมทร.ล้านนาในการจัดทำหลักสูตร การศึกษาแบบผู้ใหญ่ที่สามารถสะสมหน่วยกิต หรือเป็นการอบรม Up-skill มากขึ้น โดยมทร.ล้านนา จะมุ่งเน้นพัฒนาทักษะ 3 เรื่องหลักๆ ที่นักศึกษาต้องมี ได้แก่ 1.ทักษะภาษาที่สาม ไม่ว่าจะเป็น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาเกาหลี หรือภาษาที่นักศึกษาและผู้ประกอบต้องการ 2.ทักษะด้านไอที ดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และซอฟต์แวร์ต่างๆ และ 3.ทักษะความเป็นผู้ประกอบการ เพราะนักศึกษาในยุคนี้มีส่วนหนึ่งที่เขาอยากเปิดบริษัทเอง อยากเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งการเป็นผู้ประกอบการไม่ใช่มองเพียงเรื่องของกำไร ขาดทุน แต่ต้องรู้เรื่องกฎหมาย บัญชี รู้เรื่องการเงิน การตลาด วางแผนการขยายธุรกิจ และทิศทางของตลาด เทรนด์ในอนาคตร่วมด้วย

“มทร.ล้านนา เป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตมีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ การพัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ควบคู่กับศาสตร์ด้านศิลปะและสังคม ดังนั้น นักศึกษาทุกคณะจะต้องมีการเรียนรู้ความเป็นผู้ประกอบการ และการเป็นผู้ประกอบการไม่ใช่รู้ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง แต่ต้องรู้ทุกศาสตร์เข้าด้วยกัน เด็กที่เข้ามาเรียนและมีไอเดียอยากทำธุรกิจ มีต้นทุนเดิมอยู่แล้ว เราก็จะเติมเต็มทักษะในส่วนที่เขาขาด และหากคนไหนยังไม่มีโปรดักส์ หรือไอเดีย มหาวิทยาลัยก็ต้องสนับสนุน ร่วมพัฒนาไอเดียของนักศึกษาให้เป็นโปรดักส์จริงๆ” รศ.ดร.อุเทน กล่าว.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ