ค่ายลำแสงซินโครตรอนชวน “นักเรียนจิตรลดา” สืบหาคนร้ายคดีฆาตกรรมจากเศษขนปริศนา
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรม “ค่ายลำแสงซินโครตรอน แสงแห่งอนาคต” ให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนจิตรลดา พร้อมฐานการทดลองวิทยาศาสตร์ ชูไฮไลท์การจำลองสถานการณ์คดีฆาตกรรมเพื่อสืบหาคนร้ายจากเศษขนด้วยเทคนิคการถ่ายภาพเอกซเรย์ 3 มิติ และฐานการทดลองเพื่อเข้าใจพื้นฐานเทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาคและเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน
ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ ประธานคณะทำงานจัดกิจกรรมศึกษาเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนสำหรับโรงเรียนจิตรลดา และรองผู้อำนวยการพัฒนาเครื่องกำเนิดแสงสยาม 2 เป็นประธานเปิด “ค่ายลำแสงซินโครตรอน แสงอนาคต” และบรรยายพิเศษเรื่อง “แสงซินโครตรอน” ให้แก่นักเรียนห้องวิทยาศาสตร์ โรงเรียนจิตรลดา ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 22 คน ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมศึกษาเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน ระหว่างวันที่ 20-21 มกราคม 2568 ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จ.นครราชสีมา
“หลังจากนักเรียนเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงสยาม โดยมีนักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง นักฟิสิกส์ และนักวิทยาศาสตร์ประจำห้องปฏิบัติการนำเยี่ยมชมแล้ว นักเรียนจะได้ทำการทดลองวิทยาศาสตร์ทั้งหมด 4 ฐานการทดลอง เพื่อทำความเข้าใจพื้นฐานเทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาคและซินโครตรอน ร่วมถึงการประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอน เช่น ฐานการทดลองเรื่องสืบจากขนด้วยการถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติ X-ray Microtomography ซึ่งเป็นตัวอย่างการประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอน โดยจำลองสถานการณ์คดีฆาตกรรมโหดที่ยังจับตัวคนร้ายไม่ได้เป็นเวลาหลายปี และมีเพียงวัตถุพยานเป็นเศษขนในบริเวณที่เกิดเหตุ ฐานการทดลองนี้นักเรียนจะได้ใช้เทคนิคการถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติ ดูโครงสร้างสามมิติของเศษขนที่เล็กมากๆ จนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการแกะรอยคนร้าย” ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ กล่าว
ส่วนฐานการทดลองอื่นๆ ได้แก่ ฐานการทดลองการเร่งและบังคับอนุภาค โดยใช้ชุดการทดลองขดลวดเฮล์มโฮลต์ซ (Helmholtz coils) ควบคุมการเคลื่อนที่ของลำอิเล็กตรอนด้วยแม่เหล็ก ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นฐานของเครื่องเร่งอนุภาค ฐานการทดลองปรากฏการณ์สั่นพ้อง โดยให้นักเรียนเปล่งเสียงที่ความถี่เท่ากับความถี่ธรรมชาติของแก้วไวน์เพื่อให้แก้วไวน์สั่นอย่างรุนแรงจนแตก ซึ่งเป็นตัวอย่างของปรากฏการณ์การสั่นพ้อง และฐานการทดลองการวิเคราะห์ธาตุองค์ประกอบด้วยเทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์ โดยนักเรียนได้ทดลองตรวจสอบปริมาณและชนิดของธาตุองค์ประกอบรวมถึงการหาสัดส่วนองค์ประกอบของธาตุทองคำในตัวอย่าง ด้วยเทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์ X-ray Fluorescence Spectroscopy
ทั้งนี้ สถาบันฯ และโรงเรียนจิตรลดา ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์เรียนวิทยาศาสตร์นอกห้องเรียนของนักเรียน โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีซินโครตรอนและสาขาวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งร่วมกันพัฒนาบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศ และสร้างแรงบันดาลใจเพื่อให้เยาวชนมีเจตนคติที่ดีต่อวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมสนับสนุนทางวิชาการ การฝึกอบรม การจัดกิจกรรม ผลักดันโครงการวิทยาศาสตร์และค่ายวิทยาศาสตร์ และพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง