มหัศจรรย์แห่งชุมชน สสส. และ wearehappy ร่วมกับ ศพด.บ้านโนนโพธิ์พัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยนิเวศสื่อสุขภาวะ
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโนนโพธิ์ ตำบลชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ ได้เปลี่ยนพื้นที่ธรรมดาให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยความสนุก ความคิดสร้างสรรค์ และการแบ่งปัน ที่นี่ ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้าง “3 ดี” ได้แก่ สื่อดี ภูมิดี และพื้นที่ดี ซึ่งส่งเสริมให้เด็กๆ เติบโตอย่างมีคุณภาพและพัฒนาทั้งกาย ใจ สังคม และสติปัญญา
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้เริ่มต้นขึ้นจากความร่วมมือของครู ผู้ปกครอง และคณะทำงานในชุมชน ที่ได้เข้าร่วมโครงการ “มหัศจรรย์นิเวศสื่อสุขภาวะเพื่อเด็กปฐมวัย” โดยการสนับสนุนจากสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก11) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ภายใต้การบริหารงานโดยกลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์ ที่ได้สร้างสรรค์การเรียนรู้แบบใหม่มาสู่ชีวิตของเด็กๆ ครอบครัว และชุมชน
สร้าง “3 ดี” เพื่อหัวใจของการพัฒนาเด็ก
ครูเสาวณีย์ เหมือนโพธิ์ หัวหน้าโครงการ กล่าวไว้ว่า “เราต้องการให้เด็กเห็นว่า สิ่งของที่อยู่รอบตัวเรามีประโยชน์และงดงามเพียงใด การเล่นกับสื่อเหล่านี้ไม่ได้แค่ความสนุกเท่านั้น ยังช่วยสร้างการเรียนรู้ ความภาคภูมิใจในตัวเอง”
สื่อดี คือ การเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว เด็กในชุมชนได้สัมผัสกับของเล่นที่มาจากสื่อธรรมชาติรอบตัว เช่น ผีเสื้อจากเปลือกเมล็ดต้นแดง และ ตุ๊กตาจากดอกยางนา ซึ่งเป็นผลงานที่เกิดจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น สื่อเหล่านี้ไม่เพียงแต่กระตุ้นจินตนาการ แต่ยังสอนให้เด็กรู้จักคุณค่าของสิ่งแวดล้อม
กิจกรรมบ้านศิลปะ ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ปลดปล่อยจินตนาการผ่านการวาดภาพ โดยใช้กระดาษรีไซเคิลและสีน้ำจากธรรมชาติ เพื่อให้เกิดนิเวศสื่อสุขภาวะโดยการมีส่วนร่วมของปราชญ์ในชุมชน จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านงานศิลปะ สร้างสุนทรียะที่สื่อสารออกมาผ่านรูปภาพที่สวยงามตามความคิดและจินตนาการ
ภูมิดี ส่งต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น เด็กๆ ได้เรียนรู้การละเล่นพื้นบ้าน เช่น ม้าก้านกล้วย และตะกร้อจากใบมะพร้าว
ครูสราวุธ เพ็งวัน ผู้ร่วมโครงการ กล่าวว่า “ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นของขวัญจากอดีตที่เราต้องรักษาไว้ ของเล่นที่เรียบง่ายเหล่านี้สร้างทั้งความสุข ความคิดสร้างสรรค์ และเชื่อมโยงเด็กๆ กับรากเหง้าของชุมชน”
นอกจากนี้ การปลูกสมุนไพรในโครงการ สวนสมุนไพรสามดี ยังเป็นกิจกรรมที่ครอบครัวและเด็กมีส่วนร่วม เด็กๆ ได้เรียนรู้คุณค่าของสมุนไพร เช่น ว่านหางจระเข้ ใบเตย และขิง การดูแลต้นไม้เหล่านี้สอนให้ เด็กๆ รู้จักความรับผิดชอบและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ
พื้นที่ดี สนามเด็กเล่นที่เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ สนามเด็กเล่นจากวัสดุท้องถิ่น ท่อนไม้ ล้อยาง และมุมเล่นทรายที่ชาวชุมชนร่วมกันสร้าง เป็นสถานที่สำหรับกิจกรรมทางกาย เป็นแหล่งเรียนรู้ที่เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะผ่านการเล่น เช่น การทรงตัว การคิดแก้ปัญหา และการทำงานร่วมกันในกลุ่ม
“ช่วงหนึ่งของโครงการ เรามีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกับเด็กและผู้ปกครองจำนวน 20 คน เพื่อสร้างสนามเด็กเล่น 3ดี บอกเลยว่านี่เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าประทับใจมากค่ะ เพราะเราไม่ได้แค่สร้างพื้นที่สำหรับเด็กเล่น แต่เรากำลังสร้าง พื้นที่สร้างสรรค์ ที่ช่วยพัฒนาสติปัญญาและประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ”
ครูเสาวณีย์ เหมือนโพธิ์ หัวหน้าโครงการ เล่าว่า “สนามเด็กเล่นของเราอาจจะดูแปลกจากสนามทั่วไป แต่มันเป็นวัสดุที่หาได้ไม่ยาก ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการรอบด้านของเด็ก โดยเฉพาะเมื่อเพิ่มพื้นที่ทรายเข้ามา เด็กๆ ได้เรียนรู้ผ่านการสัมผัสพื้นผิวต่างๆ พวกเขาใช้มือขุดทราย กลิ้งล้อยาง และจัดสรรพื้นที่เล่นด้วยตัวเอง เด็กๆ ชอบเล่นในสนามที่มีล้อยางมากค่ะ เพราะมันทำให้พวกเขาได้ปล่อยพลัง ได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ การเรียนรู้ที่เกิดจากการลงมือทำจริงมีความสำคัญมาก เด็กๆ ได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสทราย ล้อยาง หรือการฟังเสียงของเล่นที่เกิดขึ้นรอบตัว มันช่วยให้พวกเขาพัฒนาทั้งกล้ามเนื้อ สมาธิ และจินตนาการไปพร้อมๆ กัน”
ตลาดนัดสื่อสร้างสรรค์ : สะท้อนความสำเร็จของชุมชน
ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ชุมชนได้จัดงานนิทรรศการ “ตุ้มโฮม หม่องเล่น 3 ดี” เพื่อแสดงผลงานที่เกิดจากโครงการ งานนี้ดึงดูดผู้เข้าร่วมกว่า 120 คน ทั้งเด็ก ผู้ปกครอง และผู้นำชุมชนมาเข้าร่วม ฐานกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย สื่อดี เช่น การแสดงผลงานศิลปะของเด็กและสื่อการเรียนรู้จากวัสดุธรรมชาติ พื้นที่ดี อย่างสวนสมุนไพรและสนามเด็กเล่นจำลอง และ ภูมิดี ได้นำกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านได้รับการนำกลับมาฟื้นฟูและปรับให้เหมาะสมกับยุคสมัย เช่น
- ม้าก้านกล้วย และ ปืนจากก้านกล้วย ของเล่นที่สร้างความเพลิดเพลินและส่งเสริมจินตนาการ
- ตะกร้อจากใบมะพร้าว ฝึกทักษะการเคลื่อนไหวและการเล่นเป็นทีม
- ปืนปั้งกองจากไม้ไผ่ แสดงให้เห็นของเล่นที่มาจากการใช้วัสดุธรรมชาติ
ในด้านอาหารพื้นถิ่น งานมหกรรมนี้ยังจัดกิจกรรมให้เด็กและครอบครัวได้มีส่วนร่วม เช่น การทำ ข้าวแหลกงา และ ข้าวต้มมัด อาหารที่มีรสชาติอร่อย และสะท้อนถึงวัฒนธรรมการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นอย่างสร้างสรรค์
นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับของใช้พื้นบ้านของชนเผ่าภูไท เช่น เครื่องจักสานและผ้าทอมือ ซึ่งช่วยเชื่อมโยงเด็กๆ กับรากเหง้าทางวัฒนธรรม และสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของมรดกทางภูมิปัญญาที่สืบทอดมายาวนาน
คุณสินใจ อินชิด ผู้ปกครองของเด็กชายธนวัฒน์ โพธิ์เมือง เล่าว่า “งานนี้ทำให้เรารู้ว่า การพัฒนาเด็กเริ่มได้จากสิ่งเล็กๆ การมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชนช่วยให้ทุกคนรู้สึกผูกพันกันมากขึ้น”
ดร.สรวงธร นาวาผล ผู้อำนวยการกลุ่ม wearehappy กล่าวสรุปสุดท้ายว่า “โครงการ มหัศจรรย์นิเวศสื่อสุขภาวะเพื่อเด็กปฐมวัย เริ่มต้นที่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ขยายต่อไปยังชุมชน สร้างพื้นที่การเรียนรู้ สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เพราะนี่คือ “นิเวศสื่อสุขภาวะ” ที่สำคัญของเด็ก กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในงานมหกรรม “ตุ้มโฮม หม่องเล่น 3 ดี” เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ในครอบครัว และผู้คนรอบตัวเด็กๆ พวกเขาได้เรียนรู้ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเต็มไปด้วยความรัก การผสมผสานสื่อสร้างสรรค์ที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทำให้เด็กๆ เติบโตท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เปี่ยมไปด้วยโอกาสและความรัก เสียงหัวเราะและรอยยิ้มของเด็กๆ ในชุมชนคือหลักฐานชัดเจนว่า ความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ จากการดูแลเด็กในวันนี้ อาจเป็นรากฐานสำคัญของอนาคตที่สดใสสำหรับชุมชนไทยในวันข้างหน้า