จุฬาฯ ร่วม World Economic Forum ประกาศ The Future of Jobs 2025 ชี้ทักษะแห่งอนาคต พร้อมแนะกลยุทธ์สร้างมนุษย์แห่งอนาคต (Future Human) สำหรับประเทศไทย
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแถลงข้อมูลรายงาน “Future of Jobs 2025” ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นตัวแทนหนึ่งเดียวในประเทศไทยร่วมกับ World Economic Forum ในการเสนอแนวทางเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในระหว่างปี พ.ศ. 2568-2573
รายงานนี้อ้างอิงจากการสำรวจ 1,000 บริษัท ครอบคลุมพนักงาน 14 ล้านคน ใน 22 อุตสาหกรรม จาก 55 ประเทศทั่วโลก โดยมีผลการวิเคราะห์ที่สำคัญดังนี้
- ตำแหน่งงานใหม่ 170 ล้านตำแหน่ง จะเกิดขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม
- 92 ล้านตำแหน่งงาน จะหายไป เนื่องจากระบบอัตโนมัติและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
- การเติบโตสุทธิของการจ้างงานคิดเป็น 7% หรือเท่ากับ 78 ล้านตำแหน่งงานทั่วโลก
ปัจจัยสำคัญที่เปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานในปี 2573
โดยเรียงลำดับความสำคัญ ดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี AI หุ่นยนต์ และนวัตกรรมด้านพลังงานเป็นปัจจัยหลักที่เปลี่ยนแปลงบทบาทงานและทักษะ
- การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระตุ้นความต้องการวิศวกรสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน
- ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเป็นความท้าทายสำคัญ
- การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร ประชากรสูงอายุในประเทศรายได้สูงและแรงงานขยายตัวในประเทศรายได้ต่ำปรับเปลี่ยนตลาดแรงงาน
- การแบ่งแยกทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ข้อจำกัดทางการค้าและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลต่อรูปแบบธุรกิจ
ทักษะในอนาคตของประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
ภายในปี พ.ศ. 2573 สองในห้าของทักษะที่มีอยู่จะถูกเปลี่ยนแปลง ทักษะที่สำคัญของไทย คือ ทักษะด้าน AI และ Big Data ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์ ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูล ในขณะที่ระดับโลกเน้นทักษะด้าน AI และ Big Data ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูล ความฉลาดในการใช้งานเทคโนโลยี และทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์
กลยุทธ์สำคัญ 5 ประการสำหรับประเทศไทย
- สร้างการเปลี่ยนแปลงแบบ Holistic Skill Change: ยกเครื่องการ Upskill ของบุคลากรในมิติ ไม่ใช่ทักษะใดทักษะหนึ่งเท่านั้น
- สร้างองค์กรให้เป็น Future-Ready Organization ที่ต้องมีระบบการพัฒนาทักษะอนาคตของบุคลากร
- Human Replacement งานที่ซ้ำซากให้เลิกใช้คน และทดแทนด้วยระบบ Automation
- Enhancing Dynamic Work Role มีการส่งเสริมให้ไม่ยึดติดกับบทบาทการทำงานในแบบเดิม ๆ แต่มีการปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา
- ผสานเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เข้ากับการทำงาน: เชื่อมโยงเทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อสร้างนวัตกรรมที่เพิ่มคุณค่าและความสามารถในการแข่งขัน
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ยังกล่าวด้วยว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก้าวสู่การเป็น ‘The University of AI’ มหาวิทยาลัยแห่งนี้มุ่งสร้าง “คนพันธุ์ใหม่” หรือ “Future Human” ที่ไม่ได้เป็นเพียงผู้เชี่ยวชาญในการใช้งาน AI (Artificial Intelligence) แต่ยังเปี่ยมด้วยทักษะที่เป็นเอกลักษณ์อย่าง II (Instinctual Intelligence) หรือ “ปัญญาสัญชาตญาณ” ซึ่งสร้างสรรค์ปัญญาที่ไม่อาจประดิษฐ์ขึ้นได้ ที่สำคัญ ‘คนพันธุ์ใหม่’ จะต้องไม่ได้มีเพียงสมองที่ชาญฉลาด แต่ต้องมีหัวใจที่ดีงาม ที่จะเปลี่ยนความสามารถทางเทคโนโลยีให้เป็นพลังที่สร้างคุณค่าแก่ทั้งตนเองและสังคม”
“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงติด 100 อันดับแรกของโลกด้านชื่อเสียงทางวิชาการ โดย (QS) World University Rankings 2021-2022″