วช. ส่งเสริมการพัฒนานักบินโดรนสำรวจและดับไฟป่า เพื่อบรรเทาสาธารณภัยและภัยพิบัติ ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง จ.เชียงราย
เมื่อวันเสาร์ที่ 4 มกราคม 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าและตรวจเยี่ยม โครงการเครือข่ายความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าด้วยเทคโนโลยีโดรนดับเพลิง นำโดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ วช. พร้อมด้วยทีมนักวิจัย ณ โครงการพัฒนาดอยตุง จังหวัดเชียงราย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวว่า วช. ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาในหลายมิติ โดยในประเด็นด้านการบรรเทาและการป้องกันทางสาธารณภัย รวมถึงการจัดการภัยพิบัติ การใช้เทคโนโลยีโดรนเป็นอีกเครื่องมือที่สามารถช่วยลดผลกระทบจากสาธารณภัยและภัยพิบัติได้ในหลายพื้นที่ ทั้งในเชิงทรัพยากร ภาคเกษตรกรและภาคประชาชน ในการลดความเสี่ยงในการดับเพลิงในพื้นที่ป่าและการสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ รวมถึงเพิ่มความแม่นยำในการประเมินสถานการณ์ และเสริมสร้างความรวดเร็วในการดำเนินการ
นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า การใช้โดรนในภารกิจดับเพลิงและสำรวจพื้นที่ช่วยเปิดมุมมองใหม่ให้กับการจัดการภัยพิบัติ โดรนสามารถเข้าถึงพื้นที่ที่มีความอันตรายหรือพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าถึงด้วยวิธีการปกติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประเมินสถานการณ์และการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ลดความเสี่ยงและเวลาในการปฏิบัติงานได้อย่างมีนัยสำคัญ
ในการติดตามผลการดำเนิน ขณะนี้ โครงการพัฒนาดอยตุงมีศูนย์ดำเนินงานและทีมงานบินโดรนที่สามารถใช้เทคโนโลยีโดรนดับเพลิงที่มีระบบและอุปกรณ์ที่ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อใช้สำหรับภารกิจดับไฟป่า และโดรนระบบอัตโนมัติติดกล้องจับความร้อนเพื่อใช้ในภารกิจการสำรวจไฟป่า มีประสิทธิภาพสูงในการลดเวลาและเพิ่มความแม่นยำในการสำรวจพื้นที่ รวมถึงช่วยสนับสนุนการตัดสินใจในสถานการณ์วิกฤต ทั้งนี้ วช. มีแผนการขยายองค์ความรู้และเทคโนโลยีดังกล่าวสู่การใช้งานในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถของเทคโนโลยีโดรนในการรองรับภารกิจที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต