DPU จับมือ Chinese Plus วิทยาลัยอาชีวศึกษาอีคอมเมิร์ซกุ้ยโจว และบ. กุ้ยโจว เฉียนเยว่โยวผิ่น
DPU จับมือ Chinese Plus วิทยาลัยอาชีวศึกษาอีคอมเมิร์ซกุ้ยโจว และบ. กุ้ยโจว เฉียนเยว่โยวผิ่น เปิดโครงการ ” Guijiang Workshop” และ “สถาบันอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจีน-ไทย” เสริมทักษะ นศ.จีน-ไทย ปั้นนักไลฟ์มืออาชีพ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมกับ Chinese Plus วิทยาลัยอาชีวศึกษาอีคอมเมิร์ซกุ้ยโจว ประเทศจีน และบริษัทกุ้ยโจว เฉียนเยว่โยวผิ่น อิมพอร์ต แอนด์ เอ็กซ์พอร์ต อีคอมเมิร์ซ จำกัด ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ(MOU) เปิดโครงการ “Guijiang Workshop” และ “สถาบันอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจีน-ไทย” เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ พัฒนาทักษะอีคอมเมิร์ซ และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการศึกษาไทยและจีน ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์ความร่วมมือด้านภาษาและวัฒนธรรมจีนของกระทรวงศึกษาธิการจีน โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช คำสุพรหม รองอธิการบดีสายงานภาคีสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย สมาคมครูจีนแห่งประเทศไทย วิทยาลัยอาชีวศึกษาอีคอมเมิร์ซกุ้ยโจว ธนาคารออมสินภาค 5 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ภายในงานยังมีการจัดการแข่งขันกระชับมิตรการไลฟ์สดขายสินค้าออนไลน์ระหว่างนักศึกษาไทยและนักศึกษาจีน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบอีคอมเมิร์ซและไลฟ์สตรีมมิ่ง ณ ห้องประชุมสนม สุทธิพิทักษ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพฯ
ผศ.ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ให้เกียรติกล่าวเปิดงานว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยคาดการณ์ว่าในปี 2568 จะมีมูลค่าสูงถึง 7.5 แสนล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 6% การขยายตัวนี้ไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภค แต่ยังเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในวงการธุรกิจและการศึกษา เพื่อตอบรับแนวโน้มดังกล่าวมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์จึงร่วมมือจากวิทยาลัยอาชีวะศึกษาอีคอมเมิร์ซกุ้ยโจว และบริษัทนำเข้าส่งออกสินค้าอีคอมเมิร์ซกุ้ยโจว เฉียนเยว่โยวผิ่น เพื่อจัดตั้งโครงการ Guijiang Workshop และสถาบันอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจีน-ไทย โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะระดับสากล พร้อมมุ่งเน้นผลิตนักอีคอมเมิร์ซที่มีความเชี่ยวชาญ จำนวน 300 คนภายใน 3 ปี ทั้งนี้มหาวิทยาลัยยังได้นำจุดแข็งด้านการเรียนการสอน สาขาการค้าระหว่างประเทศ โลจิสติกส์ และภาษาจีนธุรกิจ รวมถึงการสนับสนุนจากนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาต่อยอดความร่วมมือในครั้งนี้
ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม รองอธิการบดี สายงานภาคีสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่า โครงการความร่วมมือนี้ ได้จัดตั้งอย่างเป็นทางการที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยมีห้องไลฟ์สตรีมมิ่งจำนวน 6 ห้อง เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติการไลฟ์สดขายสินค้า นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการศึกษาและวัฒนธรรมการค้าอีคอมเมิร์ซระหว่างไทยและจีน ถือเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของการเรียนการสอนอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ และความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการกับสถาบันการศึกษา อย่างไรก็ตามการพัฒนาความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการศึกษาและเตรียมความพร้อมบุคลากรสู่ตลาดแรงงานยุคใหม่ ผ่านการบูรณาการการเรียนการสอนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สะท้อนวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต
นายหยาง หง ประธานกรรมการ บริษัทกุ้ยโจว เฉียนเยว่โยวผิ่น อิมพอร์ต แอนด์ เอ็กซ์พอร์ต อีคอมเมิร์ซ จำกัด เปิดเผยถึงยุทธศาสตร์บริษัทในการขับเคลื่อนธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนว่า บริษัทให้ความสำคัญกับกรอบความร่วมมือ RCEP(Regional Comprehensive Economic Partnership) และนโยบาย BRI (Belt and Road Initiative)หรือโครงการเส้นทางสายไหมทางบกและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน บริษัทมีช่องทางการขายผ่านแพลตฟอร์ม TikTok และ Multi-channel Network (MCN) ด้วยแอคเค้าท์กว่าแสนราย มีผู้ติดตามกว่า 12 ล้านคน และยอดการรับชมสูงถึง 9,800 ล้านครั้ง สร้างรายได้กว่า 2 ร้อยล้านหยวนต่อปี สำหรับการส่งเสริมด้านการศึกษา บริษัทได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหลายแห่ง โดยปัจจุบันมีนักศึกษากว่า 2,000 คน เข้าร่วมโครงการเรียนรู้ด้านอีคอมเมิร์ซ เราจึงมีความพร้อมที่จะมุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะทั้งในจีนและข้ามพรมแดนอย่างต่อเนื่อง
ศาสตราจารย์หวัง ฮวน เลขานุการเอก ฝ่ายการศึกษา สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันวิทยาลัยอาชีวศึกษาจีนกว่า 200 แห่ง มีโครงการความร่วมมือกับกว่า 70 ประเทศ รวม 400 สถาบัน ดังนั้นโครงการความร่วมมือครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากอุตสาหกรรมจีนกำลังขยายการลงทุนในไทย ซึ่งต้องการบุคลากรที่มีทักษะและเข้าใจวัฒนธรรมข้ามแดน โดยเฉพาะในปี 2568 ที่ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนจะครบรอบ 50 ปี ความร่วมมือนี้จะเป็นคลื่นลูกใหม่ของการแลกเปลี่ยนทางการค้า วัฒนธรรม และองค์ความรู้ เป็นการสร้างสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-จีน และยังจุดประกายสำหรับการสร้างโอกาสใหม่ ๆ สำหรับความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซระหว่างไทยและจีนอีกด้วย
ดร.โชติกานต์ จิราลักษณ์สกุล หัวหน้าหลักสูตรภาษาจีนธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่า การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบอีคอมเมิร์ซและไลฟ์สตรีมมิ่ง ระหว่างทีมแข่งขันจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอีคอมเมิร์ซกุ้ยโจว ประเทศจีน และนักศึกษา DPU มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้สภาพจริงของอีคอมเมิร์ซและเข้าใจกระบวนการทำงานจริง ภายหลังการแข่งขันจะมีการอบรมอย่างเข้มข้น 3 วัน ระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2567 โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากกุ้ยโจว เฉียนเยว่โยวผิ่น ฯ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ ตั้งแต่กระบวนการตั้งราคา การทำโปรโมชัน ไปจนถึงการกระตุ้นยอดขาย โดยบริษัทได้พัฒนาแฟลตฟอร์มพิเศษที่ช่วยให้นักศึกษาสามารถวางแผนการขายก่อนไลฟ์สด รวมถึงสร้างแฟลตฟอร์มจำลองการไลฟ์สด ที่สามารถเก็บข้อมูลหลังบ้าน เพื่อนำไปวิเคราะห์การตลาดได้ ซึ่งถือเป็นโอกาสทางการศึกษาที่น่าสนใจ นอกจากนี้ในอนาคตมหาวิทยาลัยมีแผนขยายความร่วมมือ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทดังกล่าวมาเป็นวิทยากร และสอนบางรายวิชาที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน โดยจะใช้ห้องปฏิบัติการ Guijiang สตูดิโอ เป็นฐานฝึกปฏิบัติไลฟ์ขายสินค้าออนไลน์ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาทุกคณะสามารถใช้ห้องสตูดิโอดังกล่าวในการฝึกไลฟ์สดได้