“Night Museum at Chula” สัมผัสเสน่ห์แห่งพิพิธภัณฑ์จุฬาฯ ยามค่ำคืน

“Night Museum at Chula” สัมผัสเสน่ห์แห่งพิพิธภัณฑ์จุฬาฯ ยามค่ำคืน

จุฬาฯ เปิดพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ให้ชมยามค่ำคืนเป็นพิเศษในงาน “Night Museum at Chula” 13 – 15 ธ.ค.นี้ 16.00 – 22.00 น.โชว์จุดเด่นพิพิธภัณฑ์ในจุฬาฯ แหล่งความรู้ทรงคุณค่า ผสานศิลปะ ภายใต้แนวคิดหลัก “Science meets Art – Art meets Science”

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดแถลงข่าวงาน “Night Museum at Chula” เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ณ หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ โดยมี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานในงาน จากนั้นมีการนำเสนอไฮไลต์ของพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในงาน “Night Museum at Chula” ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์ภายใต้สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ โดย รศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ รองอธิการบดี จุฬาฯ พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โดย ศ.ดร.ประณัฐ โพธิยะราช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กิจกรรมการแสดงของคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โดย ศ.ดร.ขำคม พรประสิทธิ์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และนิทรรศการต่าง ๆ จากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ โดย ศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ

ในงานมีการแสดงชุด “หนุมานจับนางสุวรรณมัจฉา” โดยนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และการนำเสนอไฮไลต์ของนิทรรศการในงาน “Night Museum at Chula” ได้แก่

– พืชกินแมลง ชาและของว่างจากผลผลิตในสวน จากพิพิธภัณฑ์พืช ศ.กสิน สุวตะพันธุ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ

– โครงกระดูกสัตว์และตัวอย่างสัตว์มีชีวิต เช่น แมลงและสัตว์เลื้อยคลาน จากพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาฯ

– สีสันควอนตัมดอท สารเรืองแสงสีสวยในจอ TV และต้นคริสต์มาสจากผลึกมหัศจรรย์ที่ออกแบบได้ตามใจคุณ โดยภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และแบคทีเรียเรืองแสงที่พบในซูชิ รวมถึงโปรตีนเรืองแสงสีเขียว โดยภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ

– เพลทอาหารเลี้ยงเชื้อที่จำลองตัวอย่างกลิ่นจากจุลินทรีย์ โดยภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ

– กิจกรรม Smart Paint Smart Art ทดลองระบายสีและชมวัสดุที่เปลี่ยนสีด้วยความร้อน โดยภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ

– กล้องโทรทรรศน์ โดยภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ

– คราบของปูเสฉวนยักษ์และปูแมงมุม โดยสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ

– กิจกรรม “ไพ่เสี่ยงทาย ธันวานี้ไปไหนดี” และตัวต่อปริศนา จากภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ

งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน ณ พิพิธภัณฑ์ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 15 ธันวาคม 2567 เวลา 16.00 – 22.00 น. ในธีม “Science meets Art – Art meets Science” การผสานความงดงามของวิทยาศาสตร์และศิลปะที่พร้อมจะเปิดมุมมองใหม่ในการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจ ท่ามกลางบรรยากาศ แสง สี เสียง เติมเต็มบรรยากาศพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ยามค่ำคืนที่จุฬาฯ ให้ตื่นตาตื่นใจ งานนี้ได้รับการสนับสนุนและการจัดแสดงโดยสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ และคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

เพลิดเพลินไปกับพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้และกิจกรรมที่น่าสนใจในงาน Night Museum at Chula ดังนี้

  • นิทรรศการ “Beauty and the Beast” ณ พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแสดงผีเสื้อและแมลงสาบ ทูตแห่งการปรับตัวและผู้รอดที่แข็งแกร่ง โดยสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ ดื่มด่ำกับการแสดงดนตรีคลาสสิกจากวงแชมเบอร์ในบรรยากาศที่เชื่อมโยงธรรมชาติและศิลปะ
  • นิทรรศการ “ของดีควรดู : มิวเซียมน่ารู้ในจุฬาฯ” ที่นิทรรศสถาน อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ ชวนชม 20 พิพิธภัณฑ์ในจุฬาฯ และพิพิธภัณฑ์พกพา Museum in the box
  • นิทรรศการ “เล่าเรื่องจุฬาฯ ผ่านกาลเวลา” ณ หอประวัติจุฬาฯ จัดแสดงเอกสาร ภาพถ่าย และวัตถุทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนการเดินทางของจุฬาฯ

นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science”

  • พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • นิทรรศการ “ปีก-THE WING” สำรวจวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่มีปีก
    • ผลงานภาพวาดทางวิทยาศาสตร์โดย Estelle Cruz ศิลปิน-นักวิจัยผู้ผสมผสานระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์อย่างลงตัว
    • The Dark Dwellers สัตว์ในเงามืด
    • การผ่าตัดจระเข้ใน “Inside the Animal Body”
    • การลิ้มลองอาหารจากแมลงใน “Are You Hungry?”
    • เสวนา “Citizen Science” ที่ชูบทบาทวิทยาศาสตร์ภาคประชาชนในงานอนุรักษ์ธรรมชาติ
    • กิจกรรม DIY งานศิลป์รักษ์โลก สร้างกระเป๋าผ้าและเข็มกลัดเป็นของที่ระลึกสุดพิเศษ
  • พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพถ่าย
    • นิทรรศการผลงานภาพที่เกิดจากกระบวนการสร้างภาพด้วยเทคนิคต่าง ๆ
    • ขั้นตอนการอัดและขยายภาพขาวดำในห้องมืด
    • เรียนรู้เทคนิคการใช้แสงและกระบวนการสร้างภาพแบบดั้งเดิม เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมทดลองใช้เครื่องมือและสร้างภาพด้วยตัวเอง
  • พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา
    • ความเชื่อเกี่ยวกับหินศักดิ์สิทธิ์
    • การจัดแสดงกระดูกไดโนเสาร์ไทย
    • การจัดแสดงหิน “หมูสามชั้น”
    • อัญมณีประจำราศี
    • DIY กระเป๋าหนึ่งเดียวในโลก
    • การตักไข่ไดโนเสาร์ ชิงรางวัลพิเศษ
  • พิพิธภัณฑ์พืชที่มีชีวิต Living Plant Museum
    • พืชกินแมลง
    • สายพันธุ์ข้าวในท้องตลาด
    • ศิลปะพืชที่งดงามเหนือกาลเวลา
    • กิจกรรม DIY เครื่องหอมจากพืช
    • นิทรรศการ “From Garden to the Table” เชื่อมโยงสวนธรรมชาติกับจานอาหารสุดพิเศษ
  • นิทรรศการในภาควิชาต่าง ๆ ในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ
    • ภาควิชาฟิสิกส์ กิจกรรม “ชวนพี่น้องมองดาว” ชมท้องฟ้าจำลองและวิดีทัศน์เสมือน
    • ภาควิชาจุลชีววิทยา สำรวจโลกของจุลินทรีย์ เจาะลึกสี กลิ่น และรสชาติของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • ภาควิชาชีวเคมี จัดแสดงแบคทีเรียเรืองแสง และโปรตีน GFP โปรตีนเรืองแสงสีเขียวจากแมงกะพรุน ชิมเจลาโต้สูตรสุขภาพที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ
    • ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ ค้นพบความลับในการทายวันเกิดที่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
    • ภาควิชาวัสดุศาสตร์ ระบายสีปูนปาสเตอร์หอม DIY พวงกุญแจ การจุ่มกล่องและกาชาปอง รับของที่ระลึก
    • ภาควิชาเคมี การทดลองนาโนเทคโนโลยีที่สร้างแสงระยิบระยับ และสารเรืองแสงที่เปล่งประกายในที่มืด
    • ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล เปิดประสบการณ์การสำรวจความงดงามและความลึกลับของโลกใต้ทะเลที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ จัดแสดงนิทรรศการต่าง ๆ ที่น่าสนใจ

  • นิทรรศการ “แฟชั่นแห่งท้องทะเล : ศิลปะจากสิ่งมีชีวิตใต้ผืนน้ำ”
  • จัดแสดงสัตว์น้ำและสัตว์ทะเลหายาก ให้ผู้ร่วมงานสัมผัสใกล้ชิด ผ่าน Touch Tank ที่เหมือนยกทะเลมาไว้กลางกรุงเทพฯ
  • Decorator crab ปูนักตกแต่งซึ่งหาดูได้ยากในธรรมชาติ

คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ นำเสนอการแสดงศิลปะในสรรพเสียง บทบรรเลงแห่งธรรมชาติและวัฒนธรรม

  • การขับร้องประสานเสียงทีมคอรัส
  • ละครเวทีสั้นเกี่ยวกับการรณรงค์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ รักษ์สัตว์โลก
  • โขนแสดงสด ตอน ตามกวาง เสียงแห่งธรรมชาติและสรรพชีวิต
  • การแสดงดนตรี Music in Museum
  • การแสดงโปงลางที่สร้างความสนุกสนานให้ผู้ร่วมงาน

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/NHMCU

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร.0-2218-3634-5, 0-2218-3624

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ