พล.ต.อ. เพิ่มพูน ปฐมนิเทศ ครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 1 กสศ. ให้เป็นครูผู้ส่งต่อโอกาสให้เด็กรุ่นต่อไป ตามนโยบายเรียนดีมีความสุข

พล.ต.อ. เพิ่มพูน ปฐมนิเทศ ครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 1 กสศ. ให้เป็นครูผู้ส่งต่อโอกาสให้เด็กรุ่นต่อไป ตามนโยบายเรียนดีมีความสุข

พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการปฐมนิเทศข้าราชการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 “การส่งต่อโอกาสสู่ผู้เรียนในพื้นที่ห่างไกล” และร่วมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ครูรัก(ษ์)ถิ่นเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ โดยความร่วมมือของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา,กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นโครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลที่มีใจรักในวิชาชีพครู และมีศักยภาพในการเรียนรู้ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีอย่างมีคุณภาพในสาขาวิชาที่ขาดแคลนครู คือ การปฐมวัย และการประถมศึกษา สร้างครูตามแนวคิด “ครูนักพัฒนาชุมชน” ให้มีสมรรถนะด้านวิชาชีพครู ด้านการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 กลับไปเป็นครูในโรงเรียนชุมชนท้องถิ่นของตนเอง เช่น บนภูเขา บนเกาะ ชายแดน พื้นที่ทุรกันดาร พื้นที่หลากหลายทางชาติพันธุ์ โรงเรียนที่มีการโยกย้ายบ่อย โดยรุ่นที่ 1 มีข้าราชการครูรัก(ษ์)ถิ่น 327 คน ประจำการสอนเด็ก ๆ ในโรงเรียน 285 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 44 จังหวัด

พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้กำลังใจข้าราชการครูรัก(ษ์)ถิ่นในการปฏิบัติหน้าที่ และส่งต่อโอกาสที่ได้รับให้กับเด็กรุ่นต่อไป ตามนโยบายเรียนดีมีความสุข “กระทรวงศึกษาธิการ สนับสนุนนโยบายเพื่อช่วยเหลือครูและบุคลากรทางการศึกษาอยู่เสมอ เช่น เรื่องความก้าวหน้าในวิชาชีพครูโดยทั่วไป การพิจารณาวิทยฐานะสำหรับครูในพื้นที่พิเศษ การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามมติคณะรัฐมนตรี เงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มเติมไปยังโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาส รวมถึงปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนและงบประมาณสื่อสำหรับโรงเรียนที่มีครูไม่ครบชั้นให้สามารถจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เชื่อว่า ครูรัก(ษ์)ถิ่น จะเผชิญภาระหนักกว่าครูในเมืองในหลาย ๆ ด้าน ทั้งเรื่องความขาดแคลนของเด็กนักเรียนตามแตกต่างทางวัฒนธรรม ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ความยากลำบากของพื้นที่ อาจต้องทำสิ่งที่ไม่เคยได้ทำ เช่น ทำอาหารให้เด็ก การดูแลหอพักนอน ยังไม่รวมถึงความยากลำบากเมื่อเกิดภัยพิบัติในโรงเรียน ซึ่งขอให้กำลังใจครูใหม่ อย่าได้ย่อท้อต่อความยากลำบากและอุปสรรค ทุกพื้นที่ยังมีผู้ดูแลใกล้ชิด ทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศ รวมถึงเครือข่ายครูรุ่นพี่จากโครงการต่าง ๆ อาทิ คุรุทายาท เพชรในตม ครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น และเครือข่ายครูจากมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นต้น

“ดังนั้นจึงอยากให้พวกเราจับมือ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำให้เป็นการสร้างเครือข่ายครูรัก(ษ์)ถิ่นเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน สุดท้ายอย่าได้ลืมว่าเมื่อเราได้รับโอกาส ก็ถึงเวลาที่จะส่งต่อโอกาสนั้นให้กับเด็กรุ่นต่อไป เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสให้เด็กทุกคนเท่าเทียมกัน และตัดวงจรความยากจนหรือความขาดแคลนในชุมชนของแต่ละพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน” พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าว

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ. ได้ดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล และนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในการพัฒนาทุนมนุษย์ และลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน “ปัจจุบันโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ได้บรรลุเป้าหมายแรกในการพัฒนาทุนมนุษย์ เนื่องจาก ผู้รับทุนคือเยาวชนที่อยู่ในครอบครัวขาดแคลนได้มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษาสูงขึ้น ส่งผลต่อสัญญาณที่ดีของระดับการศึกษาของคนไทยที่สูงขึ้น และเกิดนวัตกรรมการสร้างโอกาสที่ค้นพบเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพหรือช้างเผือก ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องสูญเสียบุคลากรที่มีศักยภาพและความสามารถสูงเมื่อได้รับโอกาส สามารถสร้างรายได้ที่มากกว่าครอบครัวตัวเองถึง 5 เท่า หรือมากกว่านั้น เป้าหมายที่สอง ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลจำนวนกว่า 60,776 คน ได้รับโอกาสจากครูรัก(ษ์)ถิ่น”

ผู้จัดการ กสศ. ระบุว่า หลังจากปีนี้ กระบวนการบรรจุและแต่งตั้งครูรัก(ษ์)ถิ่นจะต่อเนื่องไปอีก 4 ปี คือ ปี 2568 – 2571 เมื่อครบ 5 ปี ประเทศไทยจะมีครูรัก(ษ์)ถิ่นประมาณ 1,500 คน เพื่อช่วยโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลราว 1,300 แห่ง ครูรัก(ษ์)ถิ่นเหล่านี้จะเป็นครูที่อยู่ที่โรงเรียนเป้าหมายได้นานเพราะเป็นบ้านเกิดตนเองโดยไม่โยกย้าย ตามสัญญาอย่างน้อย 6 ปี ดังนั้น ครูรัก(ษ์)ถิ่นจึงถือเป็นนวัตกรรมการพัฒนาครูตามความต้องการและจำเป็น หรือการผลิตครูระบบปิดที่เป็นการเปลี่ยนแปลงก้าวแรกในการผลิตครูเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย

ทั้งนี้ ในการปฐมนิเทศข้าราชการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 ผู้แทนจากหน่วยงานความร่วมมือ ได้ร่วมบรรยายพิเศษและให้คำแนะนำในการปฏิบัติงานแก่ครูใหม่ อาทิ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และเลขาธิการสภาการศึกษา นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.ศุภสิน ภูศรีโสม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดร.สุดา สุขอ่ำ รองเลขาธิการคุรุสภา ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการบริหาร กสศ. ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. และมีตัวแทนข้าราชการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 ร่วมนำเสนอประสบการณ์ส่งต่อโอกาสสู่ผู้เรียน ความหวังในการพัฒนาทุนมนุษย์และลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ห่างไกล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ