‘วิศวะศรีปทุม’ เปิดสนามประลองรถวิ่งตามเส้นปี 2567 ส่งเสริมเยาวชนสู่เส้นทางนักประดิษฐ์หุ่นยนต์อัจฉริยะ
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ส่งเสริมเยาวชนสู่ก้าวแรกของการเป็นนักประดิษฐ์หุ่นยนต์อัจฉริยะ จัดการแข่งขันรถวิ่งตามเส้นเจ้าความเร็วแบบอัตโนมัติปี 2567 (Line Tracking Robot Contest 2024) นักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ธนบุรี และวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทศบาลนครปฐม คว้าถ้วยรางวัลชนะเลิศ พร้อมรับรางวัลทุนการศึกษาทีมละ 10,000 บาท
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม (บางเขน) ได้จัดการแข่งขันรถวิ่งตามเส้นเจ้าความเร็วแบบอัตโนมัติปี 2567 (Line Tracking Robot Contest 2024) ณ อาคาร 1 ชั้น 5 ห้องบัวหลวงแกรนด์รูม โดยมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันรวมทั้งสิ้น 372 คน แบ่งเป็น 93 ทีม จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งในระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษาและอุดมศึกษา เพื่อค้นหาสถาบันการศึกษาที่มีความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์วิ่งตามเส้นเจ้าความเร็ว และส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ให้มีประสิทธิภาพ
การแข่งขันในปีนี้ได้รับการรับรองตามกรอบมาตรฐานการจัดกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และความคิดสร้างสรรค์ สอดคล้องกับระบบการศึกษาของประเทศไทย พร้อมทั้งสนับสนุนกิจกรรมการศึกษานอกห้องเรียน เพื่อเสริมสร้างทักษะการแก้ไขปัญหาเชิงวิศวกรรมศาสตร์และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ระหว่างทีมผู้เข้าแข่งขัน
ในงานนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพจิตร ผาวัน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้ให้เกียรติเป็นประธานในการมอบถ้วยรางวัล เกียรติบัตร และเงินรางวัลทุนการศึกษาแก่ทีมชนะเลิศ รองชนะเลิศ ในระดับมัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา ดังนี้
รางวัลระดับมัธยมศึกษา:
- รางวัลชนะเลิศ อันดับ 1: ทีมโนเบรค จาก Singapore International School, Thonburi รับถ้วยรางวัล พร้อมเกียรติบัตร และเงินรางวัล 10,000 บาท
- รองชนะเลิศอันดับ 2: ทีมลิลลี่ จาก The Newton Sixth Form รับถ้วยรางวัล พร้อมเกียรติบัตร และเงินรางวัล 5,000 บาท
- รองชนะเลิศอันดับ 3: ทีมวันเดย์009 จากโรงเรียนนนทรีวิทยา รับถ้วยรางวัล พร้อมเกียรติบัตร และเงินรางวัล 3,000 บาท
รางวัลระดับอาชีวศึกษา:
- รางวัลชนะเลิศ อันดับ 1: ทีมเอ็นเอมวีซีโรบอท1 จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทศบาลนครปฐม รับถ้วยรางวัล พร้อมเกียรติบัตร และเงินรางวัล 10,000 บาท
- รองชนะเลิศอันดับ 2: ทีมโคเซน_๐๐๒ จากสถาบันโคเซ็น มจธ. (KOSEN KMUTT) รับถ้วยรางวัล พร้อมเกียรติบัตร และเงินรางวัล 5,000 บาท
รางวัล Best Technique Award:
- ทีมฟาง จากโรงเรียนเทพศิรินทร์ร่มเกล้า และ ทีมต้นไม้ จาก Newton Sixth Form รับเงินรางวัลทุนการศึกษาทีมละ 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
รางวัล Advisor Achievement Award:
- ครูที่ปรึกษาทีมสามร้อยยอด 3 จากโรงเรียนสามร้อยยอดวิทยาคม และครูที่ปรึกษาทีมโคเซน_๐๐๑ จากสถาบันโคเซ็น มจธ. (KOSEN KMUTT) รับเงินรางวัล 6,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
รางวัล Engineering Achievement Awards ได้รับเงินรางวัลทุนการศึกษาทีมละ 1,500 บาท จำนวน 11 รางวัล พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่
- ทีมเอ ซี ที 9 จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี
- ทีมอินวินซิเบิล จากโรงเรียนสาธิตนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- ทีมสวัสดีโลก จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี
- ทีมลมมันแรง จากโรงเรียนทิวไผ่งาม
- ทีมสามร้อยยอด 1 จากโรงเรียนสามร้อยยอดวิทยาคม และ โรงเรียนเลิร์นสาธิตพัฒนา ฝ่ายมัธยม
- ทีมเอสเคดีดับเบิ้ลยู ดีโค้ดทอคเกอร์ จากโรงเรียนสุคนธีรวิทย์
- ทีมทีซีอาร์-ศูนย์หนึ่ง จากThe Charm Robot
- ทีมสามร้อยยอด 2 จากโรงเรียนสามร้อยยอดวิทยาคม และโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี
- ทีมเมอร์คูลี่เอ็ก จากโรงเรียนแกลง”วิทยสถาวร”
- ทีมโม้จ๊าดดดดด จากโรงเรียนชลกันยานุกูล
- ทีมสามร้อยยอด 4 จากโรงเรียนสามร้อยยอดวิทยาคม
การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นเวทีในการแสดงความสามารถของนักเรียนและนักศึกษาในด้านหุ่นยนต์และเทคโนโลยี แต่ยังช่วยเสริมสร้างทักษะการแก้ปัญหาที่ท้าทายในเชิงวิศวกรรมศาสตร์ และกระตุ้นให้เกิดการคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาอุปกรณ์และระบบต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต