ศศินทร์ และ School of Management มหาวิทยาลัย Zhejiang ลงนาม MOU และเปิดตัว Regional Business Center ที่กรุงเทพฯ
สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin School of Management) และ School of Management มหาวิทยาลัย Zhejiang (Zhejiang University School of Management) สองสถาบันชั้นนำด้านการสอนบริหารธุรกิจในเอเชีย ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ และได้เปิดตัว “Zhejiang University School of Management-Sasin School of Management Regional Business Center” ที่ ศศินทร์ เมื่อเร็วๆ นี้
ศาสตราจารย์ เอียน เฟนวิค (Professor Ian Fenwick) ผู้อำนวยการศศินทร์ กล่าวว่า “ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการศึกษาด้านธุรกิจ การฝึกอบรมผู้บริหาร และการวิจัยด้านการจัดการในภูมิภาคนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้เราสามารถออกแบบหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้นำในอนาคต เตรียมความพร้อมให้พวกเขามีทักษะที่จำเป็นในการประสบความสำเร็จในตลาดโลกที่เชื่อมโยงกันในปัจจุบัน”
Professor Yuan ZHU, Chairman of the School Council, School of Management มหาวิทยาลัย Zhejiang กล่าวว่า “สถาบันของเราก่อตั้งเมื่อปี 2523 และมีอายุใกล้เคียงกับศศินทร์ เราทำงานร่วมกันโดยมีเป้าหมายที่จะสร้างสีสันให้กับการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและทางวัฒนธรรมในอาเซียนและประเทศอื่นๆ เราเชื่อว่าความร่วมมือนี้ถือเป็นบทใหม่ในมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างสถาบันทั้งสอง และเป็นก้าวสำคัญในการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาระหว่างจีนและไทย”
ความร่วมมือระหว่างศศินทร์ และ School of Management มหาวิทยาลัย Zhejiang มุ่งพัฒนาหลักสูตรการศึกษาด้านบริหารธุรกิจที่เน้นองค์ความรู้ที่มาจากการปฏิบัติ (Practice-grounded Business Education) ทั้งในหลักสูตรปริญญา หลักสูตรอบรมผู้บริหาร (Executive Education Programs) และหลักสูตร Double Degree สำหรับผู้บริหารและผู้ประกอบการในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยเสริมทักษะการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมและทักษะการจัดการที่สำคัญให้แก่ผู้นำในอนาคต นอกจากนี้ความร่วมมือยังครอบคลุมการวิจัยร่วมเพื่อพัฒนาการศึกษาด้านธุรกิจและการจัดการ
Regional Business Center นี้ อยู่ที่ชั้น 5 ของศศินทร์ เป็นความมุ่งมั่นของทั้งสองสถาบันในการมุ่งสู่ความเป็นเลิศในด้านการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ ศูนย์ใหม่แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเป็นผู้นำด้าน Thought Leadership และเพิ่มโอกาสร้างความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างจีน ไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อไปในอนาคต