จุฬาฯ ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์แปรรูปจาก “โกโก้” เพิ่มมูลค่าโกโก้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
“โกโก้” เป็นหนึ่งในพืชแห่งอนาคต สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น อาหารเพื่อสุขภาพชั้นดีเยี่ยม (Super Food) และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกโกโก้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านพื้นที่ สามารถปลูกโกโก้ได้ทุกภาค ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายเร่งยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมโกโก้ทั่วประเทศสู่การเป็นโกโก้ฮับ (THAI COCOA HUB) ของอาเซียนในอนาคต
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดงานแถลงข่าวความสำเร็จของกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปเป้าหมาย “โกโก้” เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โถงชั้น 1 อาคารมหามกุฏ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โดยมี ดร.กิตติโชติ ศุภกำเนิด ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการ ศ.ดร.วรวีร์ โฮเว่น ผู้รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายวิจัย และหัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต้อนรับ รศ.ดร.จิรารัตน์ อนันตกูล ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ผู้จัดการโครงการการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน ในงานมีพิธีมอบวุฒิบัตรแก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 17 กิจการ และพิธีมอบโล่ผลิตภัณฑ์ดีเด่นแก่ผู้ประกอบการจำนวน 3 กิจการ
กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมดำเนินกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปเป้าหมาย (โกโก้) ภายใต้โครงการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม โดยมีคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ให้การปรึกษาทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรม บรรจุภัณฑ์ที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน การตลาดการเงิน เพื่อยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตโกโก้ ส่งเสริมการพัฒนาและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าสูง ได้มาตรฐาน และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดสามารถเชื่อมโยงไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์
ดร.กิตติโชติ ศุภกำเนิด ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โกโก้เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีการปลูกในประเทศไทยมานานแล้ว โกโก้ที่ปลูกในจังหวัดต่าง ๆ มีรสชาติและอัตลักษณ์ที่ โดดเด่นแตกต่างกัน แต่ยังขาดการส่งเสริมเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการในการแปรรูปโกโก้ทั้งที่เป็นต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ภายใต้โครงการนี้ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้คำแนะนำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมการปลูกโกโก้ นำไปสู่การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและต่อยอดในเชิงพาณิชย์ โดยมีสถานประกอบการจำนวน 17 แห่งที่เข้าร่วมโครงการกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม การแปรรูปผลิตภัณฑ์โกโก้ไม่ได้มีแค่ช็อกโกแลตเท่านั้น แต่ยังมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นอาหารที่ให้ประโยชน์สูงต่อร่างกาย (Superfood) เครื่องสำอาง ฯลฯ ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ มีผู้เชี่ยวชาญและห้องปฏิบัติการในการทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากโกโก้ นอกจากนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีโครงการพัฒนาทักษะความรู้แก่เกษตรกรและผู้สนใจเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์โกโก้ รวมถึงการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ การสร้างมาตรฐานในเรื่องของเกษตรปลอดภัย ช่วยให้เกษตรกรสามารถขายเมล็ดโกโก้และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยสู่ผู้บริโภค
ศ.ดร.วรวีร์ โฮเว่น ผู้รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายวิจัย และหัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ มีความพร้อมทางด้านความรู้ที่ครบวงจร ทั้งในภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร ภาควิชาเคมี ภาควิชาพฤกษศาสตร์ และภาควิชาเทคโนโลยีทางภาพและการพิมพ์ รวมทั้งมีคณาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโกโก้เข้าร่วมสนับสนุนโครงการนี้ โดยมีโรงงานต้นแบบที่พื้นที่จุฬาฯ จ.สระบุรี เพื่อรองรับการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ยังมีอาจารย์จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ เข้ามามีส่วนร่วมดูแลเรื่องการทำธุรกิจด้วย นอกจากโกโก้แล้วยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมเข้ามาให้การสนับสนุนในกระบวนการพัฒนา เช่น ทุเรียน พืชสมุนไพร ฯลฯ
ศ.ดร.ศิริรัตน์ ก๊กผล ผู้ประสานงานโครงการ เปิดเผยว่ารู้สึกดีใจและภาคภูมิใจที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้เข้าไปมีส่วนช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชนภายใต้โครงการนี้ ได้เห็นความสำเร็จของผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปเป้าหมาย “โกโก้” ทำให้ผู้ประกอบการได้นำผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบของตนเองมาแปรรูปเพื่อต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถออกไปสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้ โดยได้รับคำแนะนำปรึกษาจากอาจารย์จุฬาฯ ในด้านต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรม การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การวางแผนด้านการตลาด การคำนวณต้นทุน ราคาขาย ปัจจุบันมีบริษัทที่ให้ความสนใจมาซื้อวัตถุดิบโกโก้ที่มีคุณภาพจากเกษตรกรไทย โดยไม่ต้องไปนำเข้าโกโก้จากต่างประเทศที่มีราคาแพง