“จุฬาฯ ชวนสื่อฯ จิบน้ำชายามบ่าย” อธิการบดีจุฬาฯ แสดงวิสัยทัศน์นำมหาวิทยาลัยผู้นำ AI University พร้อมสร้างการเติบโตสู่ระดับนานาชาติ

“จุฬาฯ ชวนสื่อฯ จิบน้ำชายามบ่าย” อธิการบดีจุฬาฯ แสดงวิสัยทัศน์นำมหาวิทยาลัยผู้นำ AI University พร้อมสร้างการเติบโตสู่ระดับนานาชาติ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงาน “จุฬาฯ ชวนสื่อฯ จิบน้ำชายามบ่าย” เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 เวลา 11.30 – 13.00 น. ณ เรือนจุฬานฤมิต จัดโดยศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ เพื่อกระชับสัมพันธ์อันดีกับสื่อมวลชน ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ร่วมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยมาร่วมงานครั้งนี้

ทั้งนี้ภายในบริเวณงานมีการแสดงนิทรรศการ “ปฏิทินจุฬาฯ” นำเสนอหลากหลายผลงานนวัตกรรมของจุฬาฯ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม รวมทั้งมีการบรรเลงดนตรีไทยโดยนิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ “วงเภตรา” สร้างบรรยากาศให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวต้อนรับสื่อมวลชน และแสดงความยินดีที่ได้เปิดบ้านต้อนรับสื่อมวลชน โดยได้กล่าวถึงแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยภายใต้นโยบาย “Chula Power of Togetherness” ที่มุ่งเน้นการเติบโตของจุฬาฯ ในทุกมิติ โดยมีนิสิตเป็นศูนย์กลาง ทั้งการเติบโตในระดับนานาชาติ สู่การเป็น Global-Thai University การเติบโตที่ส่งผลกระทบต่อสังคม สู่การเป็น The Most Admired University การเติบโตจากภายใน สู่การเป็นองค์กรของคนเก่งและคนดี การเติบโตแบบบูรณาการ สู่การเป็นศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ กับหน่วยงานภายนอก และนิสิตเก่าทั่วประเทศที่แข็งแกร่ง และการเติบโตทางปัญญา มุ่งเน้นที่การบ่มเพาะนิสิตและบัณฑิตจุฬาฯ สู่การเป็นนิสิตและเป็นบัณฑิตที่มีความฉลาด และความเชี่ยวชาญ มีความเป็นผู้นำในระดับนานาชาติ พร้อมแสดงวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนจุฬาฯ สู่การเป็น “AI University” เพื่อสนับสนุนการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่ตอบโจทย์สังคมยุคดิจิทัล และเตรียมความพร้อมให้นิสิตมีทักษะและความรู้ด้าน AI

“การนำมหาวิทยาลัยมุ่งสู่ AI University ผมไม่ได้มองว่าเป็นพลังการขับเคลื่อนเฉพาะทางการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการทำงาน โดยมี AI เป็นตัวเสริมไม่ใช่ตัวหลัก เราต้องเข้าใจว่า AI มีบทบาทในการทดแทนบางอาชีพ แต่ยังคงต้องมี ‘คน’ เป็นผู้ทำงานหลัก ร่วมกับ AI เพื่อประโยชน์สูงสุดในการพัฒนา”

ศ.ดร.วิเลิศ ยังได้เปิดเผยถึงบทบาทในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งจะดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป โดยมองว่า มหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่ได้แข่งขันกันเอง แต่เป็นการสร้างคุณภาพของการศึกษาในระดับประเทศในองค์รวม การจัดอันดับมหาวิทยาลัยเป็นเพียงเกณฑ์จากองค์กรจัดอันดับต่าง ๆ สำหรับยุทธศาสตร์ของ ทปอ. มุ่งผนึกกำลังร่วมกันเพื่อสร้างการศึกษาในประเทศไทยให้แข็งแกร่งและดึงดูดนิสิตต่างชาติให้เข้ามาศึกษา ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศในภาพรวม

ภายหลังการนำเสนอวิสัยทัศน์ อธิการบดีและผู้บริหารจุฬาฯ ได้ร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสื่อมวลชนเกี่ยวกับนโยบาย และผลงานความก้าวหน้าของจุฬาฯ ในด้านต่าง ๆ โดยสื่อมวลชนได้สัมภาษณ์อธิการบดีจุฬาฯ และผู้บริหารมหาวิทยาลัยในเรื่องต่าง ๆ ด้วยความสนใจเป็นอย่างยิ่ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ