สกสว. ผนึกกำลังภาคการศึกษา ร่วมเสนอ 10 โจทย์สำคัญแก่กระทรวงศึกษาธิการ สมานรอยต่อการศึกษาไทย พร้อมเร่งสานเป้าหมายรมว.ศธ. “เรียนดี มีความสุข” และ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด และฉลาดทำ

สกสว. ผนึกกำลังภาคการศึกษา ร่วมเสนอ 10 โจทย์สำคัญแก่กระทรวงศึกษาธิการ สมานรอยต่อการศึกษาไทย พร้อมเร่งสานเป้าหมายรมว.ศธ. “เรียนดี มีความสุข” และ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด และฉลาดทำ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับภาคีการศึกษาและการเรียนรู้ ร่วมนำเสนอและแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนกรอบแนวคิด “การศึกษาไร้รอยต่อ” ที่สอดคล้องกับระบบการศึกษาและการเรียนรู้ของคนไทยทุกคน ภายใต้การเปลี่ยนแปลงตามบริบทโลก และ ความแตกต่างที่หลากหลายของแต่ละบุคคลแต่ละพื้นที่ สู่การขับเคลื่อนร่วมกันของผู้กระทำการทางการศึกษา (Education Agency) ภายในงานสัมมนาวิชาการ Thailand Education Forum ครั้งที่ 2 “10 โจทย์ใหญ่ ก้าวต่อไปการศึกษาไทยไร้รอยต่อ” โดยได้รับเกียรติ จาก พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานสัมมนา และร่วมให้ความเห็นต่อกรอบแนวคิดการศึกษาไร้รอยต่อ

พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษาธิการ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบัน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยต้องมีการตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน แม้ว่าแนวคิดของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน แต่จุดหมายร่วมกันคือการสร้างเยาวชนให้มีคุณภาพ หากมองผลการศึกษาที่รวบรวมมา เข้าใจว่าระบบการศึกษาอาจจะดีอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น โทรศัพท์มือถือที่เปลี่ยนรุ่นอย่างรวดเร็ว นี่คือสิ่งที่เราต้องร่วมกันคิดและทำงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งการเรียนรู้อาจมีหลายชองทาง ทำอย่างไรถึงจะให้ช่องทางต่าง ๆ นั้น สามารถเชื่อมกับการศึกษาภาคบังคับ เพื่อเติมเต็มคุณภาพการเรียนรู้ของทุกช่วงวัย หรือ ระดับชั้น เช่น ผลการสอบ PISA ของโรงเรียนบ้านหลังเขาในจังหวัดกาญจนบุรีที่ได้คะแนนสูง สิ่งที่สำคัญคือผู้บริหารโรงเรียน เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเรียนรู้ได้ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้บริหารและครู ซึ่งต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินการทางการศึกษา โดยส่วนตัวเชื่อว่าการเชื่อมโยงระบบการศึกษาและการเรียนรู้ จะช่วยให้แนวนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” และ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด และฉลาดทำ” ของกระทรวงศึกษาธิการขับเคลื่อนควบคู่ไปด้วยกันได้ การทำงานทั้ง 2 ส่วนนี้ เป็นการทำงานที่ “ฉลาดคิด ฉลาดทำ” ถือเป็นความท้าทายอยางยิ่ง จึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วนมาร่วมมือกัน เพื่อให้การศึกษาของประเทศเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศชาติ

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ที่ผ่านมางบประมาณสนับสนุนเรื่องของการศึกษาส่วนมากลงไปอยู่ในระดับห้องเรียน สิ่งที่ขาดคืองานวิจัยเชิงระบบ ที่เป็นรากฐานสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการศึกษาของไทย โดย สกสว. มีเป้าหมายสร้างความรู้เชิงระบบ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน และภาพของระบบการศึกษาไร้รอยต่อชัดขึ้น สกสว. จึงสนับสนุนให้มีการวิเคราะห์การศึกษาและการเรียนรู้เชิงระบบ เพื่อศึกษาข้อเสนอแนะที่แตกต่างของแต่ละภาคส่วน มาเชื่อมปฏิสัมพันธ์การทำงานเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของจินตนาการของระบบการศึกษาแบบใหม่ ว่าควรจะต้องส่งมอบอะไร แก่รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี และคณะทำงานวิชาการ SAT การศึกษาและการเรียนรู้ วิเคราะห์สถานการณ์ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ในประเทศไทยและในบริบทของการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ของโลก ซึ่งสามารถนำมาออกแบบข้อเสนอ “จินตนาการใหม่ของการศึกษาไร้รอยต่อ” ได้ทั้ง 10 โจทย์ ดังนี้

  • โจทย์ที่ 1 : เรารู้จักเด็กในประเทศไทยมากแค่ไหน
  • โจทย์ที่ 2 : ครอบครัวไทยต้องการอะไรเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้
  • โจทย์ที่ 3 : วิธีการเรียนรู้อันหลากหลายที่ผู้เรียนต้องการเป็นอย่างไรได้บ้าง
  • โจทย์ 4 : ครูในอนาคตจะเป็นอย่างไร
  • โจทย์ที่ 5 : เราจะสร้างระบบนิเวศของโรงเรียนที่ส่งเสริมการเรียนรู้และสุขภาวะของผู้เรียนได้อย่างไร
  • โจทย์ที่ 6 : เราจะเชื่อมร้อยระบบนิเวศการเรียนรู้ในและนอกโรงเรียนได้อย่างไร
  • โจทย์ที่ 7 : หน่วยงาน องค์กร ภาคสังคม จะสนับสนุนการศึกษาและการเรียนรู้ได้อย่างไร
  • โจทย์ที่ 8 : โลกดิจิทัลเข้ามากระทบตัวตนและการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างไร
  • โจทย์ที่ 9 : เราจะสร้างกระบวนการนโยบายสาธารณะด้านการศึกษาที่มีส่วนร่วมและเรียนรู้เป็นได้อย่างไร
  • โจทย์ที่ 10 : กระบวนทัศน์ที่หลากหลายมีผลต่อการขับเคลื่อนการศึกษาอย่างไร

โดยทั้งหมดนี้ สกสว. และ คณะทำงานวิชาการ SAT การศึกษาและการเรียนรู้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนร่วมกับขับเคลื่อน ยกระดับผลสัมฤทธิ์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ทดลอง และเกิดการขยายผลต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ