Empower Your Journey “เติมพลังบวก เติมศักยภาพ ค้นหาความเป็นตัวตน” ให้กับคนรุ่นใหม่ ในงาน CRA Open House
“รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา” ยุคนี้อาจไม่เพียงพอแล้ว เพราะสิ่งสำคัญน้องๆ รุ่นใหม่ในตอนนี้ต้อง “รู้จักตัวเอง” ด้วย ว่าถนัดอะไร? ต้องการอะไร? และอยากจะประกอบอาชีพใดในอนาคตให้เร็วที่สุด!!! แต่เชื่อว่าน้องๆ มัธยมศึกษาตอนปลายที่กำลังค้นหาความถนัดของตัวเอง และแรงบันดาลใจในวิชาชีพสายวิทยาศาสตร์สุขภาพได้มาร่วมกิจกรรมโครงการเปิดบ้านแนะแนวศึกษาสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ CRA Open House ของ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวความคิด “Empower Your Journey” เพื่อ “เติมพลังบวก เพิ่มศักยภาพ ค้นหาความเป็นตัวตน” ให้กับน้องๆ ทุกคน ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากวิทยากรพิเศษ อาทิ คุณหมอเจี๊ยบ ลลนา ก้องธรนินทร์, คุณนที เอกวิจิตร (อุ๋ย บุดด้า เบลส), คุณตุ๊ก ชนกวนันท์ รักชีพ ฯลฯ พร้อมเหล่ารุ่นพี่สายตรงจากคณะต่างๆ ทุกสาขาในราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มาแชร์ข้อมูล พร้อมเทคนิคในการเตรียมตัวสอบเข้า
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา กล่าวว่า
“แนวความคิดเอ็มพาวเวอร์ จัดขึ้นเพื่อเติมพลังบวก เพิ่มศักยภาพค้นหาความเป็นตัวตน ให้กับน้องๆ ทุกคน ซึ่งสำคัญมากที่เราจะต้องรู้จักตัวเอง ภายในงานมีกิจกรรมอัดแน่น เพื่อน้องๆ ทุกคนจะได้เกิดไอเดียว่า วันข้างหน้าเราอยากจะเป็นอะไร? บางคนอาจจะอยากเป็นคุณหมอ ก็มีสาธิตให้เห็นภาพ บางคนอยากเป็นพยาบาล เป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือกระทั่งเป็นนวัตกรการแพทย์ ที่จะมาค้นพบสิ่งดีๆ เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์และทำให้คนไข้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่แน่ว่าต่อไปโรคทั้งหลายที่สมัยก่อนเชื่อว่าเป็นโรคเวรโรคกรรม อาจจะหายขาดด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ที่น้องๆ ในวันนี้ได้แรงบันดาลใจไปค้นคว้า และค้นพบวิทยาการในอนาคต หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานครั้งนี้จะจุดประกายให้กับคนได้รู้แนวทางและมีพลังบวกในการที่จะเลือกคณะที่ใช่สำหรับตัวเองต่อไป”
แนวทางชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อมีรุ่นพี่ทั้งหลาย จาก หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน, หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี, หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค, หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ, หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ และ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ ฯลฯ มาให้คำแนะนำ เผยถึงประสบการณ์ร่วมไปกับเหล่าคนดัง ตัวแทนรุ่นพี่ทางวิชาชีพ ผู้ปกครอง และไอดอลคนรุ่นใหม่ ฯลฯ ซึ่งแต่ละท่านเผยแนวคิดน่าสนใจว่า…
คุณหมอเจี๊ยบ ลลนา ก้องธรนินทร์ คุณหมอผู้สร้างพลังบวก
งานวันนี้ เราพบว่ามีหลากหลายสาขาอาชีพที่น่าสนใจ ฟังพี่พยาบาล แล้วก็ นักรังสีเทคนิค ฯลฯ รู้สึกดีใจแล้วก็ตื่นเต้นแทนน้องๆ เพราะทุกหลักสูตรน่าสนใจไปหมดเลย มีข้อดี มีคุณค่าในแต่ละสาขาอาชีพของตัวเอง อย่างตอนนี้ที่เจี๊ยบคิดว่าเป็นสาขาอาชีพใหม่ ที่น้องๆ รุ่นใหม่ให้ความสนใจกันมากทีเดียว คือ พาราเมดิก หรือ นักฉุกเฉินการแพทย์ เป็นอาชีพที่ออกไปกับรถฉุกเฉิน ไปดูว่ารักษาคนไข้ในจุดเกิดเหตุ แล้วนำกลับมาส่งต่อให้กับทางโรงพยาบาล
ส่วนตัว สำหรับคำแนะนำ คนที่อยากเรียนแพทย์ อย่างแรกเลย ถามตัวเองก่อน เราอยากจะดูแลผู้ป่วยจริงๆ ไหม? อยากให้มาจากใจก่อนที่เราจะอยากเป็นเพราะว่าอาชีพนี้ต้องทุ่มเททั้งการเรียน ทั้งแรงกาย แรงใจมาก ถ้าเกิดน้องๆ ศึกษาแล้ว ชอบสาขานี้จริงๆ น้องก็จะมุ่งมั่นแล้วก็มีความสุขกับมัน ถามว่าเรียนแพทย์ยากไหม? เจี๊ยบว่า ถ้าเกิดคุณสอบติดแล้วเชื่อว่าทุกคนน่าจะเรียนไหวแน่นอน แต่ว่าสิ่งที่ยากกว่าคือความรับผิดชอบ จากประสบการณ์ตัวเองกว่าจะผ่านมาได้ก็กระอักเลือดอยู่นะคะ เจี๊ยบเคยเป็นเด็กเกเรมาก่อน แต่สุดท้ายเรารู้ว่าอาชีพนี้ต้องอาศัยความรับผิดชอบเพราะว่ามันเกี่ยวกับชีวิตคน หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนมาตั้งใจและอยากทำทุกนาทีให้เต็มที่ที่สุด สำหรับน้องๆ ที่ยังลังเลอยู่นะว่าเราจะเรียนอะไร?ประกอบอาชีพไหน?อย่างที่บอกจริงๆ แล้วทุกอาชีพมีความสำคัญแล้วก็มีคุณค่าในสาขาวิชาชีพตัวเอง ลองถามตัวเองดู แล้วก็มางานโอเพ่นเฮ้าส์แบบนี้จะได้เห็นทุกอย่าง มีประสบการณ์จริง แล้วก็จะตัดสินใจได้ง่ายขึ้นค่ะ
คุณนที เอกวิจิติร (อุ๋ย บุดด้า เบลส) ศิลปินไอดอลของหลายคน
จากที่ฟังน้องคณะต่างๆ เล่าให้ฟัง หลักสูตรการเรียนการสอนในสมัยนี้ เปิดโลกผมมากเลยนะ เพราะมีการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย อย่างเช่นเอานวัตกรรมสองอย่างมารวมกัน อย่างนักเรียนแพทย์ก็ไม่ได้เรียนแพทย์อย่างเดียว ยังมีคั่นตรงกลางให้เป็นปริญญาโทเพื่อไปทำวิจัยเรื่องอื่นด้วย สำหรับผม ผมคิดว่าว่ามันเหมาะกับโลกยุคปัจจุบันมาก เพราะคุณไม่ได้เป็นหมออย่างเดียว แต่คุณได้ไปวิจัยเรื่องอื่น เพิ่มที่เป็นวิชาชีพอื่นที่ไม่เกี่ยวกับแพทย์ อย่างเช่นวิศวะ หรือคอมพิวเตอร์ หรืออะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายมาคอมบายกัน แน่นอนว่าต่อไป ถ้าสมมติคุณเรียน คุณจบแล้ว คุณจะผลิตเครื่องมือแพทย์สักเครื่องมือหนึ่ง คุณก็จะมีความรู้เรื่องแพทย์ เรื่องเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์และวิศวะด้วย สิ่งเหล่านี้ที่เรียกว่านวัตกรรม แล้วหลักสูตรอื่นๆ ผมก็ชอบนะ เช่น วิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ สมัยก่อนคนเรียนพละคือเรียนพละ แต่หลักสูตรปัจจุบันนี้เป็นองค์รวมเรื่องร่างกาย เรื่องโภชนาการ เอาหลายศาสตร์มารวมกัน ตอบโจทย์มากเพราะโลกยุคปัจจุบันขาดตรงนี้ ขาดการเชื่อมโยงข้อมูลของแต่ละชนิดเอามารวมศูนย์กัน ผมว่ามันน่าสนใจมาก ท้ายสุดโลกก้าวไปข้างหน้า วิชาความรู้ต้องพัฒนาให้เท่าทันเทคโนโลยี อย่างแรกเลย เราต้องไม่ใช่ชุดความรู้เดิม สังคมต้องการชุดความรู้ใหม่ๆ ที่จะมาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งก็ต้องมาจากคณะเหล่านี้และหลักสูตรที่ปรับปรุงใหม่แบบนี้ครับ
คุณตุ๊ก ชนกวนันท์ รักชีพ ตัวแทนหนึ่งในผู้ปกครองที่เข้าร่วมงาน
วันนี้เจอเพื่อนที่เรียนมัธยมด้วยกันนะคะ เขาถามว่า โอเพ่นเฮ้าส์คืออะไร? เราบอกว่าจริงๆ แล้ว เราเป็นคุณแม่ เราชินกับคำนี้ เมื่อก่อนเราก็เป็นเด็กเรียน ค้นหาคณะที่อยากเรียน แต่สถานการณ์ไม่เอื้อเท่านี้ งานโอเพ่นเฮ้าส์คือเปิดรั้วมหาวิทยาลัย ให้น้องๆ ที่สนใจได้เข้ามาหาความรู้ ซึมซับประสบการณ์ ได้รู้จักและสอบถามตัวเองว่าเราอยากเรียนอะไร คณะนี้ สาขานี้จริงไหม ส่วนตัวคิดว่าเป็นประโยชน์มากๆ น้องๆ ก็จะได้เห็นภาพชัด เลือกอะไรที่เราชอบ เราไปไหวได้โดยตรงมากขึ้น เข้าสู่การงานอาชีพได้เร็ว ประหยัดทรัพยากรไปอีกหลายๆ อย่าง
ยุคนี้โลกมันหมุนไว ทุกอย่างไปกับคำว่าเจริญ ถ้าเราเอาคำว่าเจริญมาใช้ในทางที่ถูก เราก็จะได้พัฒนาตัวเอง แต่ถ้าเราเอามาใช้ผิดมันก็จะเกิดโทษนั่นแหละ ทุกอย่างเปลี่ยนไป ไม่เที่ยง เป็นไปตามดีมานด์ซัพพลาย หลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ๆ ก็คิดค้นมาจากโลกขาดอะไร การศึกษาก็พัฒนาไปตอบรับตรงนั้น เพราะการศึกษามีเพื่อให้มนุษย์ได้เรียนรู้ สำเร็จ และไปใช้ชีวิตต่อ เพื่อพัฒนาตัวเองและประเทศต่อไป
ในฐานะคุณแม่ พิจารณาจากความต้องการของลูกเป็นหลัก แต่บางครั้งบางที น้องอาจจะมีวุฒิภาวะไม่เพียงพอ เห็นโลกมาน้อยกว่าเรา เราก็เป็นในฐานะผู้ช่วย ขนาดเราโตแบบนี้ยังต้องมีผู้ช่วย มีเลขา เลย เป็นปกติมาก เราก็ทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้หาความรู้ ซัพพอร์ต เป็นหูเป็นตา ช่วยกันพิจารณา บังเอิญว่าที่บ้านลูกคนโตสนใจในด้านสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ งานวันนี้ทำให้เขาเห็นแนวทางชัดขึ้นว่าเหมาะกับเขาไหม? เขาสนใจแบบไหน? ส่วนตัวประทับใจกับหลักสูตรแพทย์ ผลิตคุณหมอที่เต็มไปด้วยองค์ความรู้ควบคู่ไปกับคุณธรรม แล้วคุณก็ต้องแข็งแรงสุขภาพดี เพราะต้องไปดูแลคนอื่น คือสร้างคนเก่งคนดี แล้วก็สร้างแนวความคิดให้ตัวเองแข็งแรงทั้งกายและใจด้วย ท้ายสุด อยากเรียนเอง แต่คงเลยวัยมาแล้ว ให้กำลังใจน้องๆ รุ่นลูกๆ หลานๆ แล้วกันนะคะ เข้าใจว่าทุกคนกลัว ทุกคนเหนื่อยในการเรียน บางครั้งระหว่างทางมันท้อเพราะหลักสูตรใหม่ๆ ที่ปรับตามยุคสมัยก็ยากจริงๆ แต่คิดว่ายากแค่ไหนก็ไม่เกินความสามารถของน้องๆ อย่าชะล่าใจ อย่าประมาท อย่าขี้เกียจ ให้คิดว่าเราไม่ได้เหนื่อยอย่างนี้ทุกวันหรือตลอดไป อาจแค่หนึ่งปี สองปี สามปี สี่ปี ทำให้ดีที่สุด เอาให้สุดพีค อะไรที่ทำสุดความสามารถ พอเราสำเร็จแล้ว ได้ชัยชนะกลับมาแล้ว เราจะชื่นใจ ขอให้น้องๆ ทุกคนสมหวังได้คณะอย่างที่ตั้งใจจะเรียนนะคะ”