ส่อง 3 ไอเดียสร้างสรรค์ผลงานคนรุ่นใหม่ สู่นวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์ได้จริงเพื่ออนุรักษ์ทะเล
เพราะ “คนรุ่นใหม่” คือพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เล็งเห็นความสำคัญของ “พลัง” คนรุ่นใหม่ ในการเข้ามาร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อปกป้อง ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากร จึงได้จัดการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ครั้งที่ 3 ในโครงการ PTTEP Teenergy ปีที่ 9
ในปีนี้ ผลงานของน้อง ๆ ที่มีผลงานโดดเด่นจากทั้ง 3 หัวข้อการประกวด ได้แก่ “Protect” การปกป้องท้องทะเลจากภัยคุกคามต่าง ๆ “Preserve” การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ “Provide” การสร้างโอกาสเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ได้นำมาต่อยอดพัฒนาเป็นงานที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริงในอนาคต เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล
ผลงานแรก “ทุ่นดูดซับน้ำมัน (Greasy Gulp) ด้วยเทคโนโลยี Superhydrophobic membranes” โดยนายหัฐกร ปะรักกมานนท์ หรือน้องเจเจ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตัวแทนจากทีม Greasy Gulp กล่าวถึงที่มาของนวัตกรรมว่า จากปัญหาคราบน้ำมัน บริเวณป่าชายเลนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ทำให้ทีมได้คิดค้นทุ่นดูดซับน้ำมันและคราบไขมัน ที่มีแผ่นกรอง (Filter) ผลิตจากดอกธูปฤาษี ซึ่งเป็นวัชพืชที่มีคุณสมบัติไม่ชอบน้ำ (Hydrophobic) และยังเป็นสารไม่มีขั้ว ทำให้สามารถยึดจับกับสารในกลุ่มน้ำมันและไขมันได้ดี โดยจะช่วยกรองและกักเก็บน้ำมันไว้ในทุ่นที่สร้างมาจากขยะพลาสติก (PET) โดยหลังจากที่ได้รับรางวัล ทีมได้พัฒนาผลงานโดยปรับขนาดของตัวทุ่น เพื่อให้รองรับน้ำมันและไขมันได้มากขึ้น พร้อมปรับแผ่นกรองให้สามารถซึมซับได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาฝาทุ่นให้มีรูร้อยเชือก เพื่อยึดให้ทุ่นอยู่กับที่และต้านแรงคลื่นได้ และยังติดตั้งวัสดุถ่วงลูกทุ่นแบบปรับน้ำหนักได้ เพื่อให้ทุ่นลอยตัวทั้งในน้ำทะเลและแหล่งน้ำจืดต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“การเข้าร่วมโครงการ PTTEP Teenergy เป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับพวกเรา จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่อยากสร้างนวัตกรรมที่ดี ด้วยการใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญของทุกคนในทีม มาเพื่อช่วยอนุรักษ์และปกป้องทะเลของเราให้คงอยู่อย่างยั่งยืน พวกเรารู้สึกภูมิใจมาก ๆ ที่ผลงานที่พวกเราทุ่มเทมานั้นประสบความสำเร็จ และขอขอบคุณ ปตท.สผ. ที่ให้การสนับสนุน ทำให้ผลงานของพวกเราได้รับการต่อยอด เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงต่อไปครับ” นายหัฐกร กล่าว
ส่วนผลงาน “ระบบติดตามและระบุตำแหน่งตามเวลาจริงของเรือประมงพื้นบ้าน” โดยนายฐาพล ชินกรสกุล หรือน้องซัน นิสิตชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตัวแทนจากทีม MARINE-COMM ได้เล่าที่มาของแนวคิดว่า อยากช่วยเหลือพี่น้องชาวประมงที่มีเรือขนาดเล็กและยังไม่มีระบบติดตามที่ช่วยระบุตำแหน่งและบันทึกการเดินเรือ โดยใช้พลังงานต่ำและมีราคาถูก ซึ่งหลังจากที่ได้รับรางวัลต่อยอดแล้ว ได้พัฒนาตัวจำลองต้นแบบ (Prototype) ของเครื่องติดตามให้มีขนาดเล็กลง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการติดตั้งและใช้งาน สำหรับส่วน Software ได้พัฒนาให้ระบบตอบสนองต่อการระบุตำแหน่งให้แม่นยำยิ่งขึ้น ผ่านแอปพลิเคชันเก็บข้อมูลตำแหน่งของการทำประมง มีระบบยืนยันตัวตนผู้ใช้งานเพื่อป้องกันความเป็นส่วนตัวที่สามารถควบคุมระดับการแบ่งปันข้อมูลได้ตามความสมัครใจ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการทำประมงอย่างถูกกฎหมาย สามารถสร้างอาชีพที่มั่นคง รวมถึง ปกป้องระบบนิเวศเพื่อสร้างความยั่งยืนให้ท้องทะเลไทย
“พวกเรารู้สึกดีใจมากครับที่ได้รับรางวัลในการต่อยอดครั้งนี้ เพราะทำให้พวกเราได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และฟื้นฟูท้องทะเลไทย ช่วยเหลือชาวประมงให้มีอาชีพที่มั่นคง ซึ่งการจะอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้ยั่งยืนได้นั้น เราต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน ผมอยากให้ทุกคนมาร่วมแรงร่วมใจกันก่อนที่จะสายเกินไป หากเราเริ่มกันตั้งแต่วันนี้ ในอนาคตก็จะยังคงมีทรัพยากรทางทะเลอยู่คู่กับเราต่อไปครับ” นายฐาพล กล่าว
ปิดท้ายกับผลงาน “ช้อนย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากสารสกัดสาหร่าย” โดยนางสาววิสสุตา ฉัตรจิรโรจน์ หรือน้องวิว นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยมหิดล ตัวแทนทีมแก๊งลูกหมู ได้กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกถึง 2 ล้านตันต่อปี โดยเฉพาะขยะ Single-use plastic (ขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง) เช่น ช้อนส้อม ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทีมจึงได้คิดค้นช้อนโดยใช้สารสกัดจากสาหร่าย ซึ่งย่อยสลายได้อย่างรวดเร็วและสามารถรับประทานได้ นำมาผสมกับแป้งข้าวหอมมะลิไทยและแป้งสาลีเพื่อขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ โดยหลังจากที่ได้รับรางวัล ต่อยอด จึงได้พัฒนาแม่พิมพ์ (Mold) ขึ้นมาใหม่ ให้มีรูปแบบที่หลากหลายขึ้น สามารถใช้รับประทานได้ทั้งอาหารคาวและหวาน รวมถึงเพิ่มความสามารถในการทนความร้อนให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงนำส่งตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตโดยใช้สาหร่ายพวงองุ่นอบแห้ง จากวิสาหกิจชุมชนอาหารทะเลแปรรูปบ้านพะเนิน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายกลุ่มอาชีพผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลที่ ปตท.สผ. ให้การสนับสนุนภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทะเล ซึ่งช่วยลดการเกิดขยะอาหาร (Zero Food Waste) เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอีกด้วย
“การได้เห็นผลงานที่เราทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ ทำให้สำเร็จและได้รับการยอมรับ เป็นการยืนยันว่าเรามาในทางที่ถูกต้อง และยังเป็นแรงผลักดันให้พัฒนาผลงานต่อไป เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีขึ้นและยั่งยืนยิ่งขึ้น สำหรับโลกใบนี้และทะเลของเราทุกคนค่ะ” นางสาววิสสุตา กล่าว
จากความตระหนักถึงปัญหา ก่อเกิดเป็นไอเดียสุดสร้างสรรค์ สู่นวัตกรรมที่สร้างประโยชน์ได้จริง ปตท.สผ. พร้อมสนับสนุนการต่อยอดเพื่อพัฒนาผลงานให้สามารถนำไปใช้ได้จริง มุ่งจุดประกายความคิดและพลังของคนรุ่นใหม่ พร้อมประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ผนึกกำลังช่วยกันขับเคลื่อน ดูแล และอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนต่อไป