เครือ รพ.พญาไท-เปาโล ลงนามความร่วมมือกับ จุฬาฯ พลิกโฉมการเรียนรู้ด้วยหลักสูตร 625 Hybrid Learning AI in Hospital
เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล นำโดย นายอัฐ ทองแตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ร่วมด้วย นางสุภาพร บัญชาจารรัตน์ ผู้อำนวยการสายทรัพยากรบุคคล ดร.นิรุธ ศรีพวาทกุล ผู้อำนวยการสายพัฒนาคุณค่าธุรกิจและเพิ่มพูนการเรียนรู้ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงไกร บุญเลิศอุทัย ผู้รักษาการรองอธิการบดี และ รองศาสตราจารย์ ดร.ดนุพล หุ่นโสภณ ผู้รักษาการผู้ช่วยอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สิน ร่วมลงนามในพิธีดังกล่าว เปิดหลักสูตร ‘625 Hybrid Learning AI in Hospital’
นายอัฐ ทองแตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล กล่าวว่า “ความร่วมมือนี้เป็นการยกระดับความรู้ของบุคลากรภายในองค์กร ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีในหลายๆ ด้าน เราเชื่อมั่นในศักยภาพของการพัฒนา โดยความรู้ที่ได้รับจะช่วยให้บุคลากรกลายเป็นทั้งผู้เรียนและผู้ถ่ายทอดไปพร้อมกัน ในอนาคต องค์กรจะเป็นผู้สนับสนุนและสร้างโครงสร้างที่มั่นคงให้กับการพัฒนานี้ การลงทุนในการพัฒนาบุคลากร คือการลงทุนในระยะยาวที่คุ้มค่าที่สุดเพราะเราเชื่อว่าทุกการพัฒนาจะตอบโจทย์เป้าหมายขององค์กรในที่สุด นอกจากความสามารถของบุคลากรที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังสามารถนำความรู้นี้ไปสร้างสรรค์และต่อยอดสร้างผลงานส่งต่อคุณค่าไปยังผู้รับบริการได้อีกด้วย นอกจากนี้ การใช้ AI ยังช่วยให้มนุษย์สามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้มากขึ้น เราจำเป็นต้องเร่งสร้างประสบการณ์ในการใช้งาน AI โดยมีองค์กรเป็นผู้สนับสนุนตลอดเส้นทางนี้”
ความร่วมมือนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาบุคลากรในเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังมีบทบาทสำคัญ หลักสูตร 625 Hybrid Learning AI in Hospital เป็นการยกระดับความร่วมมือทางวิชาการจาก Season5 Hybrid Learning ระดับคณะ สู่ความร่วมมือในระดับมหาวิทยาลัย
หลักสูตรนี้ผสมผสานระหว่างการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบ CILA การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ และการเรียนรู้ผ่าน Business Simulation Game จาก Harvard Business Publishing ทำให้ผู้เรียนสามารถแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดระหว่างวิทยากรและผู้เข้ารับการฝึกอบรม นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในองค์กร เช่น การนำเสนอสินค้าและบริการใหม่ๆ การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน และการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในโรงพยาบาล โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาทักษะบริหารธุรกิจของบุคลากร
แอปพลิเคชัน CILA ยังฉลองครบรอบ 5 ปี ในการสร้างหลักสูตรการเรียนรู้กว่า 800 หลักสูตร ที่ครอบคลุมทั้งด้านการแพทย์ พยาบาล และการพัฒนาตนเอง ซึ่งมีการจัดกิจกรรมอบรมตลอดทั้งปีเพื่อเสริมสร้างทักษะและความสามารถของบุคลากรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในและนอกองค์กรอย่างต่อเนื่อง