ประชุมวิชาการระดับชาติ “วิศวศึกษา” ครั้งที่ 20 ระดมแนวคิดการเรียนการสอนวิศวกรรมจะไปต่ออย่างไรในยุค AI

ประชุมวิชาการระดับชาติ “วิศวศึกษา” ครั้งที่ 20 ระดมแนวคิดการเรียนการสอนวิศวกรรมจะไปต่ออย่างไรในยุค AI

สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ “วิศวศึกษา” ครั้งที่ 20 ระดมแนวคิดการเรียนการสอนวิศวกรรมจะไปต่ออย่างไรในยุค AI

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ “วิศวศึกษา” ครั้งที่ 20 “Engineering Education in AI Era: When the new paradigm has come” ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน แอนด์ ทาวเวอร์ส กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิชาการ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์จากทั่วประเทศ ได้นำเสนอแนวทางการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาระบบการเรียนการสอนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งในยุคปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยใน การจัดการเรียนการสอน การพัฒนาผู้เรียน และการทำงาน ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดย ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Ignite Thailand : วิศวกรรมศาสตร์ต่อการขับเคลื่อนเศรฐกิจไทย” โดยระบุว่า วิกฤตสำคัญของประเทศไทยในปัจจุบันคือ การพัฒนากำลังคน โดยเฉพาะการผลิตคนในวิชาชีพวิศวกร ที่เป็นต้นน้ำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นหากเรามีเป้าหมายที่จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โจทย์ที่ภาคการศึกษาต้องช่วยกันทำคือ การทำให้ทุกหลักสูตรเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential learning) เพื่อพัฒนาทักษะเฉพาะทางที่ตอบโจทย์กับอุตสาหกรรมมากขึ้น

คุณโชค วิศวโยธิน ที่ปรึกษากรรมาธิการ AI สภาผู้แทนราษฎร และผู้ร่วมเขียนหนังสือ ChatGPT: AI ปฏิวัติโลก ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ “AI Landscape in the New World Paradigm” โดยช่วงหนึ่งระบุว่า การทำงานร่วมกับ AI สิ่งแรกที่ต้องทำคือการเปลี่ยนความคิดหรือ Mindset ของคนก่อน ว่า AI เป็นโอกาสที่จะช่วยลดภาระงานได้อย่างไร หรือจะช่วยทำให้การทำงานดีขึ้นอย่างไร สิ่งสำคัญของการนำ AI มาใช้ คือความเข้าใจ ใช้เป็น เห็นโอกาสต่อยอด กล่าวคือ แม้ว่าความสามารถของ AI จะมีเยอะมาก แต่เราจะใช้ได้ตราบเท่าที่เรามีความรู้จะตรวจสอบผลจากมันเท่านั้น ดังนั้นต้องเข้าใจขอบเขตการทำงานของ AI ต้องใช้หลัก “AI Draft & Human Craft” ซึ่งจะประกอบด้วย ความเชี่ยวชาญในสาระของงานอย่างแท้จริง ประสบการณ์ และความคิดสร้างสรรค์ ของผู้ใช้งาน “ความคิดสร้างสรรค์ยังเป็นของมนุษย์เสมอ”

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ กรรมการสภามหาวิทยาลัย และ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกลยุทธ์ AI สำหรับสถาบันอุดมศึกษา ได้บรรยายพิเศษหัวข้อ “กลยุทธการศึกษาวิศวกรรม ต่ออนาคตประเทศไทยในยุค AI” ช่วงหนึ่งกล่าวว่า ในยุคที่ AI เข้ามามีบทบาทนั้น ควรมีการพัฒนาทักษะ AI ให้กับบุคลากรทุกระดับ นอกจากนี้ การปรับปรุงหลักสูตรยังเป็นเรื่องที่สำคัญ การเรียนการสอนควรมีการกำหนดให้ AI เป็นวิชาศึกษาทั่วไป และในอนาคตควรเป็นวิชาบังคับสำหรับนักศึกษาในทุกหลักสูตร สาขาวิชา ดังนั้นถ้าเราไม่ปรับยุทธศาสตร์การเรียนการสอน ต่อไปกำลังคนของประเทศเราจะแข่งขันไม่ได้ในเวทีสากล

สำหรับ การประชุมวิชาการระดับชาติ “วิศวศึกษา” ครั้งที่ 20 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 27 กันยายน 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความร่วมมือด้านการศึกษา วิจัย อบรม ค้นคว้า และหารือเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาทางวิศวกรรม โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกปี

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ