จุฬาฯ ลงนามความร่วมมือกับ LinkedIn สร้างโอกาสให้บุคลากรเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านคอร์สออนไลน์ แพลตฟอร์ม LinkedIn Learning
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัทลิงค์อิน คอร์ปอเรชั่น (LinkedIn) ร่วมลงนามความร่วมมือ “การสร้างโอกาสให้บุคลากรได้พัฒนาความรู้จากคอร์สออนไลน์ platform LinkedIn learning” พิธีลงนามความร่วมมือระหว่างกันจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 ณ ห้องรับรองชั้น 2 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดีจุฬาฯ และคุณภัทรเสฏฐ หนุนภักดี Country Lead of LinkedIn Thailand เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ กล่าวรายงานโดย ศ.ดร.คณพล จันทน์หอม ผู้รักษาการรองอธิการบดีจุฬาฯ ในโอกาสนี้ ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดีจุฬาฯ และคุณภัทรเสฏฐ หนุนภักดี Country Lead of LinkedIn Thailand กล่าวถึงแนวทางและเป้าหมายของความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ LinkedIn
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในยุคดิจิทัล ในขณะเดียวกัน บริษัทลิงค์อิน คอร์ปอเรชั่น (LinkedIn) ได้พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ LinkedIn Learning ซึ่งมีบทเรียนที่ครอบคลุมหลากหลายด้าน ตั้งแต่ทักษะทางเทคนิค จนถึงทักษะด้านการบริหารงานและการพัฒนาตนเอง พิธีลงนามความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริษัทลิงค์อิน คอร์ปอเรชั่น (LinkedIn) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาความรู้และทักษะผ่านคอร์สออนไลน์ต่าง ๆ บนแพลตฟอร์ม LinkedIn Learning ซึ่งมีเนื้อหาที่ได้รับการออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ให้แก่บุคลากรทั้งในด้านวิชาการ การบริหารจัดการ และทักษะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพที่สามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับบริษัทลิงค์อิน คอร์ปอเรชั่น (LinkedIn) ในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมให้บุคลากรของจุฬาฯ สามารถเติบโตในสายอาชีพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ความร่วมมือในครั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ LinkedIn ได้ร่วมมือกันในด้านอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพบุคลากร เช่น การสร้างเครือข่ายหรือการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการร่วมกัน
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า นอกจากบทบาทของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการเป็นสถาบันการศึกษาที่ให้ความรู้แล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรโดยอาศัยการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) LinkedIn เป็นแพลตฟอร์มระดับโลกที่มีผู้ใช้มากมาย ดังนั้นการที่ LinkedIn เข้ามาร่วมมือกับจุฬาฯ ในครั้งนี้จึงส่งเสริมบทบาทด้านการเสริมสร้างการเรียนรู้ไปสู่สังคมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยและประเทศไทย ความร่วมมือในครั้งนี้จะส่งผลดีต่อบุคลากร จุฬาฯ ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา เพื่อพัฒนาบุคลากรจุฬาฯ ให้เป็นผู้ใฝ่รู้ และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ตลอดเวลา
คุณภัทรเสฏฐ หนุนภักดี Country Lead of LinkedIn Thailand กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง LinkedIn กับจุฬาฯ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตบุคลากรที่สำคัญของประเทศ โดย LinkedIn จะเข้ามาพัฒนาในเรื่องของทักษะซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในทั่วโลก เพื่อให้นิสิตและบุคลากรจุฬาฯ มีทักษะในอนาคตที่ถูกต้อง สามารถใช้งานได้จริงในโลกปัจจุบัน LinkedIn มีแพลตฟอร์มที่สามารถพัฒนาทักษะเหล่านั้นได้ เนื้อหาในแพลตฟอร์ม LinkedIn learning 95% เป็นเนื้อหาที่ LinkedIn ผลิตเองซึ่งเป็นคอร์สที่ตรงตามความต้องการและทักษะของผู้เรียน ปัจจุบัน LinkedIn มีคอร์สออนไลน์กว่า 20,000 คอร์ส ซึ่งได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐและมหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่ง