“เจลทรานสเฟอร์โซม” ทางเลือกใหม่ลดรอยแผลเป็นนูน นวัตกรรมล่าสุดจากเภสัชฯ จุฬาฯ
อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ คิดค้น “เจลทรานสเฟอร์โซม” ทางเลือกใหม่ช่วยลบเลือนรอยแผลเป็นนูน ผลิตภัณฑ์ทำจากสารสำคัญที่พบได้ในพืชบัวบกผนวกเทคนิคพิเศษ ช่วยลบเลือนรอยแผลเป็นนูนและรอยดำได้ผล การันตีด้วยรางวัลเหรียญทองนวัตกรรมระดับนานาชาติ ITEX 2024 และรางวัลพิเศษ จาก Korea Invention Promotion Association
หากพูดถึง “รอยแผล” ที่คนเราไม่อยากให้เกิดมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น “รอยแผลเป็น” เพราะเป็นแผลที่หายยาก หรืออาจจะไม่มีวันหายเลยตลอดชีวิต ยิ่งถ้าเป็นแผลเป็นนูน หรือแผลเป็นที่อยู่นอกร่มผ้า เช่น บริเวณใบหน้าด้วยแล้ว ก็ยิ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นเพราะจะทำให้รู้สึกเสียความมั่นใจ ผู้ที่มีแผลเป็นจึงพยายามหาวิธีรักษารอยแผล ซึ่งในปัจจุบันการรักษารอยแผลเป็นนูนก็มีอยู่หลายวิธี อาทิ ผ่าตัด ฉีดยาสเตียรอยด์ เลเซอร์ และใช้ผลิตภัณฑ์ทาเพื่อลบเลือนรอยแผล
“การฉีดยาสเตียรอยด์จะทำให้ผิวบางลง การเลเซอร์ก็ทำให้เจ็บ ส่วนผลิตภัณฑ์ลบเลือนแผลเป็น โดยมากก็นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.รมย์ฉัตร ชูโตประพัฒน์ ภาควิชาวิทยาการเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหาของการรักษารอยแผลเป็น ซึ่งเป็นที่มาของการวิจัยและคิดค้นนวัตกรรม “เจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติก“ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
“จากโจทย์ดังกล่าว เราจึงค้นคว้าดูว่ามีสมุนไพรไทยอะไรบ้างที่ดูแลเรื่องรอยแผลเป็นนูนได้ แล้วก็พบว่า “กรดเอเชียติก” ในบัวบกมีฤทธิ์ต้านการอักเสบของผิวหนังได้ดี แต่ไม่สามารถนำมาใช้ทาแผลเป็นได้โดยตรง เราจึงพัฒนาวิธีการที่จะใช้ประโยชน์จากสารสำคัญในบัวบกให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด โดยนำกรดเอเชียติกของบัวบกมาบรรจุลงในอนุภาคทรานสเฟอร์โซมในรูปแบบเจลเพื่อให้สามารถเกาะและซึมลงผิวหนังได้ดียิ่งขึ้น”
ผลงานนวัตกรรม “เจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติก” ได้รับรางวัลเหรียญทอง และถ้วยรางวัลพิเศษ Special Prize for the Best International Invention จาก Korea Invention Promotion Association ในงาน Invention, Innovation and Technology Exhibition 2024 (ITEX 2024) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2567
นวัตกรรมทรานสเฟอร์โซมคืออะไร
ผศ.ภญ.ดร.รมย์ฉัตรอธิบายว่า “กรดเอเชียติก” จากพืชบัวบก มีฤทธิ์ต้านการอักเสบของผิวหนัง ฆ่าเชื้อ และทำให้แผลสมานตัวได้ดี แต่เป็นสารละลายน้ำได้ยาก เมื่อทาลงบนผิวโดยตรง สารดังกล่าวจะไม่สามารถซึมลงสู่ชั้นผิวหนังบริเวณที่เกิดการอักเสบได้ จึงจำเป็นต้องสรรหาเทคโนโลยีที่จะช่วยนำส่ง “สารเอเชียติก” จากบัวบกเข้าไปในผิวหนังบริเวณที่ต้องการรักษา ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวเรียกว่าทรานสเฟอร์โซม (Transfersomes)
“อนุภาคทรานสเฟอร์โซมเป็นเทคนิคการเก็บกักสารไว้ในอนุภาคขนาดนาโนเมตร อนุภาคมีคุณสมบัติยืดหยุ่นได้ดี ทำให้นำส่งสารจากพืชบัวบกเข้าไปในผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผนวกกับการที่ทีมวิจัยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในรูปแบบของเจล ซึ่งมีลักษณะคล้ายฟิล์มที่สามารถเกาะบริเวณแผลได้ดี ดังนั้น เมื่อกรดเอเชียติกเกาะบริเวณแผลเป็นได้นานขึ้น โอกาสที่สารจะซึมเข้าไปบริเวณแผลก็มากขึ้นเช่นกัน”
แผลเป็นนูนเกิดจากอะไร
ผศ.ภญ.ดร.รมย์ฉัตรอธิบายกระบวนการของร่างกายที่พยายามจัดการกับบาดแผลและสมานแผล 3 ขั้นตอนโดยสังเขป ดังนี้
ขั้นตอนแรก เมื่อเกิดบาดแผลขึ้น ร่างกายจะพยายามทำให้เลือดหยุดไหล มีการอักเสบเกิดขึ้นเพื่อทำลายเชื้อโรคและกำจัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว
ขั้นตอนที่ 2 ร่างกายพยายามสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมาทดแทนเนื้อเยื่อที่ตายไป
ขั้นตอนที่ 3 ร่างกายพยายามปรับรูปร่างแผล เพื่อให้กลับมาใกล้เคียงของเดิมให้มากที่สุด
“หากกระบวนการสมานแผลในขั้นตอนที่ 2 ไม่เป็นไปตามปกติ เนื่องจากเกิดการอักเสบยาวนานเรื้อรังหรือรุนแรง ก็จะทำให้ร่างกายไม่สามารถสมานแผลได้ตามปกติ ส่งผลให้การทำงานของร่างกายในขั้นตอนที่ 3 ซึ่งเป็นกระบวนการปรับรูปร่างให้แผลกลับมามีรูปร่างเหมือนเดิมผิดปกติไปด้วย ร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาเรื่อย ๆ ทำให้เกิดรอยแผลนูนขึ้นมา” ผศ.ภญ.ดร.รมย์ฉัตรอธิบาย
ทรานสเฟอร์โซมเจลรักษาแผลเป็นนูนได้อย่างไร
การอักเสบเรื้อรังคือจุดสำคัญที่ทำให้เกิดแผลเป็นนูน ดังนั้น หากสามารถยับยั้งการอักเสบที่มากเกินไปได้ ก็จะช่วยลดการนูนของบาดแผลได้
“เจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติก” มีฤทธิ์ต้านการอักเสบบริเวณผิวหนัง ซึ่งเท่ากับว่าช่วยลดโอกาสการนูนของบาดแผลได้มาก เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เช้า-เย็นใน 2 สัปดาห์แรก ก็จะเริ่มเห็นผล ร่างกายจะปรับรูปร่างเนื้อที่นูนให้กลับมาใกล้เคียงเดิมมากที่สุด” ผศ.ภญ.ดร.รมย์ฉัตรกล่าวและแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์เจลหลังจากเกิดแผล 3 วัน หรือช่วงที่แผลแห้งสนิทแล้ว
นอกจากจะช่วยดูแลเรื่องแผลเป็นนูนแล้ว “เจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติก” ยังสามารถใช้กับแผลเป็นที่มีรอยดำ อันเกิดมาจากสิว การแกะเกาแผล หรือแผลตกสะเก็ดได้ด้วย
“ปกติแผลเป็นนูนจะทำให้เรารู้สึกตึง ๆ รั้ง ๆ บริเวณแผล ผิวบริเวณนั้นจะแห้งมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดรอยดำหรือรอยแดงตามมาได้ การใช้ผลิตภัณฑ์เจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติก จะทำให้ผิวหนังบริเวณแผลเป็นนั้นยืดหยุ่นและชุ่มชื้นมากขึ้น อีกทั้งลดปริมาณเม็ดสีบริเวณที่เป็นรอยด้วย จึงสามารถช่วยดูแลปัญหารอยดำบริเวณผิวหนังที่เกิดการอักเสบได้”
ผศ.ภญ.ดร.รมย์ฉัตรกล่าวว่าเจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติก จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อใช้กับแผลแป็นที่ไม่เกิน 1 ปี ส่วนแผลเป็นที่นานกว่า 1 ปี ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน แต่อาจต้องใช้ผลิตภัณฑ์ในระยะยาวนานกว่าจะเริ่มเห็นผล
“เราสามารถใช้เจลนี้อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการโดยไม่มีอันตรายใด ๆ เนื่องจากเจลทรานสเฟอร์โซม มีส่วนประกอบของสารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนใน CosIng EU database ว่า “มีความปลอดภัย เมื่อใช้บนผิวหนัง” ซึ่งแม้ผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย ก็สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย” ผศ.ภญ.ดร.รมย์ฉัตรกล่าวให้ความมั่นใจแก่ผู้บริโภค
ทรานสเฟอร์โซม นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ความงามและชะลอวัย
อนุภาคทรานสเฟอร์โซมเป็นนวัตกรรมสำหรับการกักเก็บสาร ซึ่งนอกจากกรดเอเชียติกจากบัวบกแล้ว ยังสามารถพัฒนาไปใช้กับสารสำคัญตัวอื่น ๆ ได้อีก
“ด้วยคุณสมบัติของเจลทรานสเฟอร์โซมที่สามารถลดรอยด่างดำและเพิ่มความยืนหยุ่นของผิวหนัง เราสามารถนำไปปรับสูตรเพื่อต่อยอดกับผลิตภัณฑ์สำหรับการชะลอวัยได้เช่นกัน” ผศ.ภญ.ดร.รมย์ฉัตรกล่าวถึงอนาคตการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีทรานสเฟอร์โซมในอุตสาหกรรมการผลิตยาและเครื่องสำอาง
นวัตกรรม “เจลทรานส์เฟอร์โซมกักเก็บกรดเอเชียติก” เป็นผลงานสตาร์ทอัพโดยบริษัท บิวตี้ แพลนท์ แลบอราทอรี จำกัด ภายใต้การบริหารงานของคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และได้รับการบ่มเพาะโดย CU Innovation Hub ขณะนี้ผลงานได้ทำการจดสิทธิบัตรโดยสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่เรียบร้อย และพร้อมสำหรับการจดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง โดยตั้งเป้าหมายการจดทะเบียนเป็นเครื่องมือแพทย์หรือยาในอนาคต ผู้สนใจร่วมทุนทางธุรกิจสามารถติดต่อได้ที่ [email protected]
“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงติด 100 อันดับแรกของโลกด้านชื่อเสียงทางวิชาการ โดย (QS) World University Rankings 2021-2022″