มบส.ระดมพลเร่งขับเคลื่อนโครงการตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฎ งบปี68
ผศ.ดร.คณกร สว่างเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้ไปเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการจัดทำโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมาย/ตัวชี้วัดโครงการตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฎเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ 2568″ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีนโยบายและแนวทางการดำเนินงานที่จะมีการบูรณาการแผนงานกับหน่วยงานในพื้นที่ การส่งเสริมการใช้ทุนทางทรัพยากรเป็นฐาน เพื่อสร้างนิเวศการเรียนรู้ การนำองค์ความรู้ทางวิชาการ พัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมสู่ Soft Power และเศรษฐกิจสร้างสร้างสรรค์ การพัฒนานวัตกร สร้างกลไกขับเคลื่อนพื้นที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพิ่มรายได้ชุมชนท้องถิ่นยกระดับเศรษฐกิจฐานราก การยกระดับโครงการยุทธ์ศาสตร์ท้องถิ่น เชื่อมโยงการวิจัยและการบริการวิชาการ สู่การสร้างรายได้ให้กับมหาวิทยาลัย และสร้างภาคีเครือข่ายผ่านระบบกลไกการบริหารจัดการ ในการทำงานบริการวิชาการเชิงพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 SDGS
ผศ.ดร.คณกร กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการบรรยายที่น่าสนใจ เช่น หัวข้อ “ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น”โดย รศ.ดร.ชลลดา พงศ์พัฒนโยธินรองอธิการบดี ฝ่ายยุทธศาสตร์และประกันคุณภาพการศึกษา มบส. หัวข้อ “ทิศทางการขับเคลื่อนโครงการตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และการบูรณาการแผนงาน โครงการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ให้สอดคล้องกับโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น”และหัวข้อ “การเชื่อมโยงโครงการพัฒนาท้องถิ่น สู่ข้อเสนอโครงการวิจัยร่วมกับหน่วยงานบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นพื้นที่ (บพท.)”โดย ผศ. ดร.ปัทมา วัฒนพานิช ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายขับเคลื่อนโครงการพัฒนาท้องถิ่นฯ มบส. นอกจากนี้ยังมีการชี้แจงแนวทางการจัดทำข้อเสนอโครงการย่อยตามประเด็นยุทธศาสตร์ฯ และการแบ่งกลุ่มปฏิบัติการระดมความคิดและข้อเสนอแนะนำเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการทั้งหมดของพื้นที่เป้าหมายด้วย
“สิ่งที่คาดหวังจากการประชุมผู้เข้าร่วมอบรมได้เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญในการวิเคราะห์ปัญหาที่ชัดเจน Pain Point ของพื้นที่เป้าหมาย และจัดทำโครงการย่อย กิจกรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตัวชี้วัด โครงการตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฎฯ และการเชื่อมโยงโครงการพัฒนาท้องถิ่น สู่ข้อเสนอโครงการวิจัยร่วมกับหน่วยงานบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และเป็นไปตามเป้าหมาย และผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ (OKR) อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าผู้เข้าอบรมจะเกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้น และได้เพิ่มพูนความรู้ด้านการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมาย/ตัวชี้วัด โครงการตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฎฯ “ผศ.ดร.คณกร กล่าว