มบส.เร่งเครื่องพัฒนาความเป็นเลิศเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจ พัฒนากลุ่มชาติพันธุ์
ผศ.ดร.คณกร สว่างเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้เป็นประธานพิธีเปิดโครงการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อตอบโจทย์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในการพัฒนาเชิงพื้นที่และสร้างชุมชนท้องถิ่นการมีรายได้จากเศรษฐกิจฐานมูลค่า (ของกลุ่มชาติพันธุ์ 5 กลุ่ม) ณ ศูนย์การศึกษาอู่ทองทวารวดี อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีผู้บริหาร มบส. หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และชาติพันธุ์ 5 กลุ่มในพื้นที่อำเภออู่ทองเข้าร่วม ทั้งนี้โครงการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อตอบโจทย์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฯ เป็นโครงการที่นำองค์ความรู้ของคณาจารย์มหาวิทยาลัยที่ผ่านการฝึกอบรมนำมาใช้ในการพัฒนาชุมชน โดยผู้เข้าร่วมโครงการมีองค์ความรู้ด้านทักษะอาชีพพื้นฐานการพัฒนาด้าน Art & Creative : ศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถต่อยอดนำองค์ความรู้ไปสร้างเสริมความสามารถด้านการพัฒนาความชอบ ความถนัด ให้เป็นช่องทางในการประกอบอาชีพ หรือสร้างอาชีพใหม่ให้เพิ่มเติมจากอาชีพเดิมที่มีอยู่ และมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการประกอบอาชีพเสริมด้วยทักษะที่ได้รับจากกิจกรรมส่งผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจในพื้นที่ อย่างไรก็ตามตนหวังว่าโครงการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อตอบโจทย์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฯ จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ในอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
ด้านผศ.ดร.ปณิตา แจ้ดนาลาว ผู้ช่วยอธิการบดี มบส. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีแผนการดำเนินโครงการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อตอบโจทย์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฯ ในพื้นที่เป้าหมาย 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลจรเข้สามพัน ตำบลบ้านดอน ตำบลอู่ทอง และตำบลดอนคา อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ในกลุ่มการพัฒนา ด้าน Art & Creative : ศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมีกลุ่มชาติพันธุ์ 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพื้นถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ไทย – จีน กลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ (ไทยโซง) กลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง และกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง