ม.มหิดลชูแนวคิดเกษตรยั่งยืน ‘Resilience Agriculture’ สร้าง ‘เศรษฐกิจชุมชน’ ก่อนก้าวสู่ ‘เศรษฐกิจโลก’
แม้ไทยจะได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) มานานนับศตวรรษ โดยเริ่มต้นที่ด้านสาธารณสุข แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Climate Change) ทำให้โลกในยุคปัจจุบันได้ขยายขอบเขตสู่ “การเกษตรและสิ่งแวดล้อม” ที่จะทำให้โลกยั่งยืนได้ต่อไปอย่างแท้จริง ภายใต้แนวคิด “Resilience Agriculture”
รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ พิมพา ผู้ช่วยคณบดีด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability) และประธานสาขาการจัดการที่ยั่งยืน (Managing for Sustainability) วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้ให้ความหมายของคำว่า “Resilience Agriculture” ว่าเป็น “ความจำเป็นใหม่เพื่อความยั่งยืน” ของเกษตรโลกที่ต้องดำเนินไปโดยมีตัวแปรที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เพื่อความยั่งยืน
จากที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีความร่วมมือกับ มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ โดยมี วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เป็นฟันเฟืองหลักร่วมกับ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อร่วมค้นหาความหมาย และแนวทางสู่ “Resilience Agriculture” ภายใต้บริบทเพื่อการพัฒนา “เกษตรชุมชนนครสวรรค์”
ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักในประเด็น ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่ออุตสาหกรรมหลักในประเทศไทย จากการจัดให้เครือข่ายที่มาจาก “ผู้นำชุมชนและเกษตรกรนครสวรรค์” ได้ร่วมระดมสมองในเสวนากลุ่มเพื่ออภิปราย และสร้างข้อสรุปในประเด็น สิ่งที่ท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และทำอย่างไรเพื่อทำให้ชุมชนได้เข้าถึงแก่นแท้ของปัญหาการเกษตรด้วยกรอบของความยั่งยืน
โดยมีทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดล คอยทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” คอยแนะนำและร่วมพัฒนา “องค์ความรู้” จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สร้างให้เกิด “ความตระหนัก” ถึงความจำเป็นของการนำแนวคิดความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ ซึ่งต่อมาผลงานในเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “Sustainable Economies”
ในภาพรวมนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องเริ่มต้นจาก “การจัดลำดับความสำคัญ” พร้อมวิเคราะห์ถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นอุปสรรค หรือสิ่งที่ส่งเสริมความยั่งยืนก็ได้
ตัวอย่างเช่น หากต้องการสร้าง “ความมั่นคงทางอาหาร” เพื่อให้ชุมชนได้มี “ปลา” บริโภคอย่างเพียงพอ และสามารถนำไปจำหน่ายต่อภายนอกชุมชน เขาจะต้องมีความเข้าใจในธรรมชาติของการจัดการเรื่อง “น้ำ” ให้ “พร้อมเผชิญต่อสภาพแห้งแล้ง” ตลอดจนมี “วิธีการจับปลา” ที่เหมาะสม ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม เพื่อให้สามารถจับปลาได้อย่างยั่งยืนต่อไป เป็นต้น องค์ความรู้จากชุมชนนั้นเป็นสิ่งที่มีมูลค่ามาก และ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็สามารถทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อสร้างมูลค่าองค์ความรู้ของชุมชนให้เกิดขึ้นเพื่อความยั่งยืนของชุมชนเอง
นอกจากนี้ การที่ทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้ส่งทีมงานไปเรียนรู้ด้านความยั่งยืนที่ศูนย์ UNITAR, University of Victoria สหพันธรัฐแคนาดา ทำให้ทีมงานเข้าใจถึงตัวอย่างที่ดีด้าน “การบริหารและการจัดการข้อมูลสารสนเทศเพื่อความยั่งยืน” ที่สามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยเพื่อสร้างการยอมรับในเวทีโลก
โดยทีมงานจากหลากหลายคณะและหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยมหิดลได้เข้าร่วมฝึกอบรมในโครงการความยั่งยืนซึ่งจัดโดย UNITAR มหาวิทยาลัยวิคตอเรีย สิ่งที่ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้เรียนรู้และนำมาปรับปรุงใช้ในงานด้านความยั่งยืนกับชุมชนมีมากมาย
เช่น เรียนรู้ว่าในทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องจะมีการแสดงข้อมูลการใช้ทรัพยากร อาทิ น้ำ และพลังงาน ตลอดจนการปลดปล่อยคาร์บอนเพื่อแสดงมาตรฐานยั่งยืนโลกแทบทั้งสิ้น และสามารถนำข้อมูลมาใช้วางแผนเกษตรยั่งยืนได้ ที่สำคัญการนำสหวิทยาการมาประยุกต์ใช้ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ สาธารณสุข และการสื่อสาร จะทำให้การทำงานด้านความยั่งยืนมีความเข้มแข็ง และแน่นอนว่า มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถเป็นหนึ่งในองค์กรที่ส่งเสริมความยั่งยืนของชุมชนในแนวทางนี้
ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรเร่ง “เตรียมพร้อมเกษตรกร” เปิดกว้าง “องค์ความรู้เพื่อความยั่งยืน” จาก “มหาวิทยาลัยสู่ชุมชน” ซึ่งนับเป็นภารกิจสำคัญของ CMMU เพื่อการสร้าง “ความมั่นคง” ให้กับ “เศรษฐกิจชุมชน” ก่อนก้าวสู่ “เศรษฐกิจโลก”
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th