มบส.สนองนโยบายรัฐดันหลักสูตรต้านทุจริตบรรจุในรายวิชาศึกษาทั่วไป

มบส.สนองนโยบายรัฐดันหลักสูตรต้านทุจริตบรรจุในรายวิชาศึกษาทั่วไป

ผศ.ดร.คณกร สว่างเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา(มบส.) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( สำนักงาน ป.ป.ช. ) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ประชุมร่วมกันเพื่อติดตามและให้คำปรึกษาการใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยมีผู้บริหารมหาวิทยาลัย พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้ประสานงานรายวิชาและผู้สอนในรายวิชาวิถีพลเมืองและกฎหมายในชีวิตประจำวัน (รายวิชาศึกษาทั่วไป) เข้าร่วมด้วย ซึ่งหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดทำในระดับอุดมศึกษา คือ หลักสูตร “วัยใสใจสะอาด (Youngster with good heart)” โดยมบส.ได้นำหลักสูตรดังกล่าวมาใช้จัดการเรียนการสอนในรายวิชาวิถีพลเมืองและกฎหมายในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตามจากการประชุมติดตามการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาดังกล่าว ทางสำนักงาน ป.ป.ช. และ อว. ได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา เพื่อให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น

“นอกจาก มบส.จะสนองนโยบายในการจัดหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาของมหาวิทยาลัยแล้ว ผมยังสนับสนุนอาจารย์ในสถาบันทำวิจัยที่ประเทศจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ อย่างงานวิจัยของ ผศ.ดร.พิบูลย์ วิฑูรย์ปัญญากุล ผู้ช่วยอธิการบดี มบส. ในฐานะอาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มบส. และคณะผู้จัดทำวิจัย ได้ทำในหัวข้อ “ปัญหาด้านกฎหมายของทีวีดิจิตอลกับการบริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ โอทีที” ซึ่งได้มีการเผยแพร่บทความวิจัยในวารสารนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2567 อย่างไรก็ตามหลักสูตรต้านทุจริตศึกษามีความจำเป็นและสำคัญมาก ดังนั้นควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกัน มบส.เร่งสนับสนุนให้อาจารย์ทำวิจัยมากขึ้นด้วย เพราะทำให้บุคคลทางด้านวิชาการในสาขาต่างๆ ศึกษาและค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ดังนั้นการทำวิจัยจึงมีความสำคัญอย่างมาก”ผศ.ดร.คณกร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ