ชุดตรวจวัดสารมึนเมา THC ในผลิตภัณฑ์ที่ผสมกัญชา นวัตกรรมจุฬาฯ ลดเสี่ยงสุขภาพ เพิ่มความปลอดภัยผู้บริโภค
นักวิจัยจุฬาฯ พัฒนาสตริปเทสเคมีไฟฟ้าตรวจปริมาณสาร THC ในกัญชาที่ทำให้เกิดอาการมึนเมา ชุดตรวจนอกห้องปฏิบัติการที่มีความไวสูง รู้ผลเร็ว แม่นยำ ช่วยผู้บริโภคปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากการบริโภคสารที่เป็นโทษต่อร่างกาย
ภายหลังการปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติดเป็นพืชสมุนไพรควบคุม ปัจจุบันได้มีการนำกัญชามาใช้อย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งใช้ในการปรุงอาหารและผสมในเครื่องดื่ม โดยอ้างสรรพคุณต่าง ๆ ของกัญชาเพื่อสุขภาพ
แต่สิ่งใดที่มีคุณประโยชน์ ก็มีโทษได้ด้วยเช่นกัน กัญชามีสารต่าง ๆ มากกว่า 400 ชนิด โดยสารสำคัญที่มักถูกกล่าวถึงเสมอ ๆ มี 2 ชนิด ได้แก่ CBD (Cannabidiol) สารที่นำมาใช้ทางการแพทย์ในการรักษาโรค และ THC (Tetrahydrocannabinol) ซึ่งเป็นสารที่ให้โทษต่อร่างกาย ส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการมึนเมา อาการหลอน และที่อันตรายอย่างยิ่งคือผู้ที่บริโภค THC ในปริมาณมากเกินค่ามาตรฐานและในกลุ่มผู้ที่มีอาการแพ้สาร THC อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดให้ปริมาณ THC ในอาหารและเครื่องดื่มต้องไม่เกิน 2% มิฉะนั้นจะถือว่าผลิตภัณฑ์นั้นเป็นสารเสพติด
แล้วผู้บริโภคจะรู้ได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา ปลอดสารที่เป็นโทษ?
ดร.สุดเขต ไชโย นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้พัฒนานวัตกรรม “สตริปเทสเคมีไฟฟ้าอย่างเร็วสำหรับตรวจประเมินปริมาณ THC” โดยต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้เคยพัฒนาชุดตรวจ ATK ที่ทำงานร่วมกับเคมีไฟฟ้าสำหรับวินิจฉัยคัดกรองโรคโควิด-19 ซึ่งเป็น ATK ที่ผลิตโดยคนไทย
“ปัจจุบันการตรวจวัดปริมาณ THC จะต้องทำในห้องปฏิบัติการด้วยเครื่องมือขนาดใหญ่ และมีกระบวนการค่อนข้างซับซ้อน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ตรวจคัดกรองสาร THC ในผลิตภัณฑ์กัญชา เราจึงคิดพัฒนาสตริปเทสเคมีไฟฟ้าขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบสาร THC ในเบื้องต้นได้เอง เพื่อความมั่นใจและปลอดภัยยิ่งขึ้นในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมกัญชา” ดร.สุดเขตกล่าว
ชุดตรวจ THC แบบพกพา ใช้ง่าย วัดค่าสารอันตรายได้ในระดับนาโน
ดร.สุดเขตกล่าวว่าแม้โครงสร้างทางเคมีของ CBD และ THC ในกัญชาจะมีความคล้ายคลึงกัน อีกทั้งกัญชาแต่ละสายพันธุ์มีปริมาณสาร CBD และ THC ไม่เท่ากัน แต่สตริปเทสเคมีไฟฟ้าสำหรับตรวจประเมินปริมาณของ THC ก็มีความไวในการตรวจวัดค่า THC ได้อย่างแม่นยำ และใกล้เคียงกับการตรวจวิเคราะห์โดยใช้เทคนิค High Performance Liquid Chromatography (HPLC) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้ในการตรวจปริมาณ THC
“ชุดตรวจนี้ทำหน้าที่เป็นเซนเซอร์ที่ตรวจวัดปริมาณ THC ในอาหารหรือเครื่องดื่มได้อย่างรวดเร็วและมีความไวในการตรวจ แม้จะมีสาร THC ในปริมาณเพียง 1.3 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร ก็ตรวจเจอได้”
ทั้งนี้ ดร.สุดเขตเผยว่าประสิทธิภาพของชุดตรวจมาจากการบูรณาการสองศาสตร์เข้าด้วยกัน กล่าวคือการตรวจวัดที่รวดเร็วของแถบทดสอบอิมมูโนแอสเสย์แบบการไหลด้านข้าง และการตรวจวัดด้วยความไวสูงของเทคนิคทางเคมีไฟฟ้า
“ชุดตรวจใช้หลักการเดียวกับ ATK ตรวจโควิด-19 จึงใช้ง่าย ไม่ยุ่งยาก เพียงเรานำสารสกัดจากกัญชาในอาหารหรือเครื่องดื่มไปผสมกับน้ำยาที่มีความจำเพาะกับสตริปเทส แล้วหยดลงบนสตริปเทส เพียงแค่ 2 หยด รอประมาณ 6 นาทีก็สามารถอ่านผลได้จากสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์”
ชุดตรวจแถบทดสอบเคมีไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่สะดวกต่อการพกพา ใช้ง่าย ราคาไม่แพง (ชิ้นละ 20 บาท) ดร.สุดเขตหวังให้เป็นหนึ่งทางเลือกในการตรวจประเมินปริมาณ THC นอกห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะเหมาะกับผู้ใช้งานในกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา และเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมปริมาณ THC ในผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา
“สตริปเทสเคมีไฟฟ้านี้จะเป็นตัวช่วยกรองให้ประชาชนไม่บริโภคสิ่งที่เป็นโทษเข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ควบคุมปริมาณกัญชาให้อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เป็นโทษต่อร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายต่อร่างกายจากสาร THC อีกด้วย” ดร.สุดเขตกล่าว
นวัตกรรมนี้ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2567 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
อนาคตสตริปเทส อุปกรณ์อย่างง่ายช่วยคัดกรองโรค
ดร.สุดเขตและคณะผู้วิจัยจากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาฯ ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาแพลตฟอร์มในรูปแบบสตริปเทสร่วมกับเคมีไฟฟ้าต่อไปเพื่อใช้ในทางการแพทย์ โดยปัจจุบันกำลังศึกษาวิจัยและพัฒนาสตริปเทสเคมีไฟฟ้าในการตรวจคัดกรองกามโรคในเบื้องต้น ซึ่งเป็นโรคที่วัยรุ่นไทยมีความเสี่ยงในการเกิดโรคและไม่กล้าไปปรึกษาแพทย์ รวมทั้งสตริปเทสร่วมกับเคมีไฟฟ้าในการตรวจคัดกรองผู้มีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคไข้หูดับจากการรับประทานเนื้อหมูดิบ เป็นต้น
ผู้ประกอบการที่สนใจจะร่วมพัฒนาสตริปเทสเคมีไฟฟ้าเพื่อใช้คัดกรองปริมาณ THC เพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์ สามารถติดต่อ ดร.สุดเขต ไชโย สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร.0-2218-8056 E-mail : [email protected]