สกสว. เดินหน้าลดรอยต่อ – ความเหลื่อมล้ำภาคการศึกษา ผ่าน “วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” พร้อมเสริมสมรรถนะการศึกษาไทย ผ่านหลากสุดยอดแพลตฟอร์ม หนุนประเทศไทยเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว) และภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาจาก 22 หน่วยงานร่วมนำเสนอ “ระบบการศึกษาแบบไร้รอยต่อ” (Seamless Education) ในงาน TEP Forum 2024 “สร้างประเทศไทยเป็นสังคมการเรียนรู้: เรียนรู้สู่สมรรถนะอย่างไร้รอยต่อ” เพื่อร่วมกันสำรวจสถานการณ์ กำหนดทิศทาง และออกแบบกลไกเชื่อมโยงความร่วมมือสู่การขับเคลื่อนงานด้าน Learning Platform ของประเทศ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาช่วยเสริมศักยภาพการศึกษา สมานรอยต่อทางด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสตร์และความรู้ รวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. เป็นองค์กรที่รับผิดชอบด้านการกำหนดนโยบาย การจัดสรรงบประมาณเพื่อการสนับสนุนงาน ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) คณะกรรมการอำนวยการ สกสว. และคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กำกับดูแล ในการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ มีการสนับสนุนการดำเนินงานในการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยมีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินงานดังกล่าว และมีการสนับสนุนงบประมาณสนับสนุนงานมูลฐานไปยังหน่วยงานต่างๆ โดยมีมหาวิทยาลัย และหน่วยงานทางด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ รับงบประมาณเพื่อดำเนินการวิจัยที่ตอบพันธกิจของหน่วยงาน จึงเป็นโอกาสที่จะใช้เวทีนี้ในการสร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อการบูรณาการสานพลังด้านการศึกษา
พร้อมกับฉายให้เห็นภาพแนวคิด “ระบบการศึกษาแบบไร้รอยต่อ (Seamless Education)” ว่าเป็นมุมมองในการทำความเข้าใจระบบการศึกษาไทย เป็นทรรศนะที่ยึดการเรียนรู้ของบุคคลเป็นศูนย์กลาง ให้ความสำคัญกับทุนทางสังคมที่มองเห็นว่าภาคีเครือข่ายหรือ Actor อื่นๆ ที่ให้บริการทางการศึกษาและการเรียนรู้อยู่มากมาย รวมทั้งการมองเห็นความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งที่ผ่านมานโยบายทางการศึกษาเน้นการออกกฎระเบียบหรือวิธีการแก้ปัญหาแบบเหมารวม ส่งผลให้เกิด “รอยต่อ” ที่เป็นอุปสรรคทำให้บุคคลเข้าไม่ถึงเส้นทางการเรียนรู้ ทำให้การพัฒนาศักยภาพไม่ต่อเนื่องหรือไม่ตอบโจทย์ชีวิต
“การวิเคราะห์รอยต่อทางการศึกษาและการเรียนรู้จะช่วยให้เห็นว่า เมื่อบุคคลเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับระบบการศึกษาจะประสบปัญหาอะไรบ้าง ซึ่งช่วยให้เกิด “จินตนาการ” ของระบบการศึกษาแบบใหม่ ว่าควรจะต้องส่งมอบอะไร เพื่อให้รอยต่อในชีวิตการเรียนรู้ของบุคคลลดลง ไม่ว่าจะเป็น รอยต่อระหว่างการศึกษาในระบบและนอกระบบโรงเรียน รอยต่อที่เกิดจากความหลากหลายของตัวผู้เรียน รอยต่อระหว่างศาสตร์และสาขาวิชา และรอยต่อระหว่างผู้ที่ทำงานด้านการขับเคลื่อนการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ เป็นเครื่องมือสำคัญในการสมานรอยต่อเหล่านี้”
รศ.ดร. ปัทมาวดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมามีการริเริ่มแนวทางใหม่ๆ เช่น แพลตฟอร์มที่เป็นนวัตกรรมเชิงระบบที่เชื่อมโลกการศึกษาและโลกอาชีพ แพลตฟอร์มที่เชื่อม Time & space ช่วยให้บุคคลเกิดการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง แพลตฟอร์ม
ที่เชื่อมภาคีความร่วมมือในการขับเคลื่อนการศึกษาเชิงพื้นที่ และแพลตฟอร์มมีเป้าหมายในการลดอุปสรรคที่เกิดจากความแตกต่างของฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนเพื่อสมานรอยต่อด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอีกทางหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ สกสว. และภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership :TEP) จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดเวที “เชื่อมโยงภาคีเครือข่าย Learning Platform สู่ระบบการศึกษาไทย โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ คณะนักวิจัย มานำเสนอแพลตฟอร์มการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ประกอบด้วย 1. TUXSA ปริญญาโทออนไลน์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ SkillLane โดย รศ. ดร.พิภพ อุดร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2. โครงการ National Coding Platform เพื่อพัฒนานักเรียน และบุคลากรด้านการศึกษา ในด้าน Technology, Coding, และ AI เพื่อต่อยอดการศึกษาต่อ
ในมหาวิทยาลัย และเตรียมพร้อมด้านเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์กับความต้องการในอนาคต โดยมีการอบรมครูทั่วประเทศ
มีระบบจัดการและบริหารห้องเรียน โดย คุณไพบูลย์ พนัสบดี Code Kit Innovation by depa 3. แพลตฟอร์มการศึกษาครบวงจรเพื่อการพัฒนานักศึกษาปริญญาโทและการวิจัยพัฒนานวัตกรรมของภาคอุตสาหกรรม (บพค.) โดย ดร.บรรพต หอบันลือกิจ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 4. มีดี:พลังเกษียณสร้างชาติ : ระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาทักษะงานในยุคดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัย (Multi-generation Entrepreneur Development Educational Ecosystem) (วช.) โดย รศ.ดร.นัทธี สุรีย์ หัวหน้านักวิจัยโครงการเกษียณมีดี รองผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมการศึกษา วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 5. Learn & Earn (Freeform Learning Project) (กสศ.) โดย ศิริพร พรมวงศ์ ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง 6. นวัตกรรมการจัดการศึกษาแก่เยาวชนนอกระบบการศึกษาด้วยการประกอบการบนฐานนิเวศวัฒนธรรมชุมชน (วช.) โดย คุณนิติศักดิ์ โตนิติ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมการจัดการศึกษา จ.แม่ฮ่องสอน
รวมถึงการบรรยาย “ระบบธนาคารหน่วยกิตเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต” (National Credit Bank System to support human development and life-long learning) โดย รศ.ดร. อนุชัย รามวรังกูร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งถือเป็นเวทีเปิด เพื่อร่วมกันสำรวจสถานการณ์และเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนงานด้าน Learning platform ที่สกสว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถนำกลับไปทบทวนและพิจารณาเพื่อร่วมกำหนดทิศทางและนโยบายการพัฒนาและออกแบบกลไกเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่าง Actors ที่หลากหลาย สู่การขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนา Learning Platform ของประเทศ และพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการขับเคลื่อน Learning Platform เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตต่อไป