จุฬาฯ ให้บริการวิชาการแก่สังคม จัดอบรมชุดโครงการการเพาะเลี้ยงกบนาในจังหวัดน่าน เสริมรายได้ – สร้างอาชีพให้เกษตรกร
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาฯ และภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เปิดตัวโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การเพาะเลี้ยงกบนา เสริมรายได้ -สร้างอาชีพ” ประจำปี 2567 เพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้จากคณะและหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยสู่ท้องถิ่นจังหวัดน่าน มีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงกบนาให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืนและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่
การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ สำนักปฏิบัติธรรมวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร สาขาหนองเจริญ อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน โดยได้รับความสนใจจากประชาชนในจังหวัดน่านเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเลี้ยงกบนานั้นมีประโยชน์หลากหลาย ไม่เพียงแค่เป็นแหล่งอาหารเสริมโปรตีน แต่ยังใช้ในการศึกษาวิจัยทางชีววิทยาและการแพทย์ รวมถึงสามารถสร้างเสริมรายได้และอาชีพใหม่ให้กับผู้ที่สนใจ โดยมีเกษตรกรจากบ้านหนองเจริญเข้าร่วมจำนวน 28 คน และบุคลากรศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค 10 คน รวมทั้งสิ้น 38 คนเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในโครงการประกอบด้วย การบรรยายเรื่องการเลี้ยง กบนา: การสืบพันธุ์และการผสมพันธุ์ของกบนา การฉายวีดิทัศน์ “แรงจูงใจในการเลี้ยงกบนา” ปฏิบัติการการ ผสมพันธุ์กบนาและการติดตามผลการเจริญของลูกอ๊อด
โครงการนี้มุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงกบนา เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างรายได้และอาชีพให้กับตนเอง ครอบครัว และชุมชน นอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2564 – 2567 ด้าน “การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน (Sustainability)” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 1 การขจัดความยากจน และเป้าหมายที่ 15 การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 0-2218-0087 ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 0-2218-5375