Coursera เปิดตัว ‘Academic Integrity’ ฟีเจอร์ชุดใหม่เพื่อความโปร่งใสทางวิชาการ ช่วยมหาวิทยาลัยไทยตรวจสอบการเรียนรู้ และลดการทุจริตในยุค AI
นวัตกรรมขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์การเรียนรู้ตลอดชีวิตของกระทรวง อว. ผ่านการเพิ่มความเข้มงวดทางวิชาการ และคุณภาพของใบรับรองคุณวุฒิดิจิทัล
คอร์สเซรา (Coursera) (NYSE: COUR) แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ชั้นนำ ประกาศฟีเจอร์ใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI: GenAI) ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานการประเมินทักษะด้านการศึกษา เสริมสร้างความโปร่งใสทางวิชาการ ประสิทธิภาพการเรียนรู้ และการประเมินผล โดยฟีเจอร์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น AI-Assisted Grading, Proctoring and Lockdown Browser และ AI-based Viva Exams จะช่วยให้มหาวิทยาลัยส่งมอบการเรียนรู้ที่แท้จริงให้แก่นักเรียน ในขณะเดียวกันก็สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการประเมินผล หลักสูตรการศึกษา และประกาศนียบัตรแบบออนไลน์
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในประเทศไทย กำลังนำร่องทดสอบระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank System :NCBS) เพื่อช่วยยกระดับการจ้างงานบัณฑิตและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยอนุญาตให้ผู้เรียนนำผลการเรียนและผลลัพธ์การเรียนรู้จากแหล่งต่าง ๆ รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ มาเทียบโอนและสะสมหน่วยกิตไว้ที่คลังหน่วยกิตแห่งชาติ ในการขยายโครงการดังกล่าว ด้านมหาวิทยาลัยต้องมั่นใจว่าการเรียนรู้ออนไลน์เป็นไปตามมาตรฐานที่เข้มงวดสำหรับหน่วยกิตทางวิชาการ แม้ว่า Generative AI จะนำมาซึ่งความเสี่ยงใหม่ ๆ ในการทุจริตของนักศึกษา แต่ก็เปิดโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนสำหรับมหาวิทยาลัยในการเสริมสร้างความโปร่งใสทางวิชาการในวงกว้าง
“เรารู้สึกตื่นเต้นที่จะมอบเครื่องมือใหม่ ๆ ให้กับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเพื่อรักษามาตรฐานสูงสุดของความโปร่งใสทางวิชาการในการเรียนรู้ออนไลน์ โดยมั่นใจว่านักศึกษาจะได้รับการศึกษาที่แท้จริง และผ่านการตรวจสอบที่เป็นที่ยอมรับจากนายจ้าง” เจฟฟ์ มาจจิออนคัลดา (Jeff Maggioncalda) ประธานกรรมการบริหารของ Coursera กล่าว “โดยการให้ความสำคัญกับประเทศไทยในฐานะตลาดหลักในการเปิดตัวครั้งนี้ เรามุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ของประเทศในการขยายการศึกษาออนไลน์คุณภาพสูง และทำให้ทักษะดิจิทัลและ AI สามารถเข้าถึงได้สำหรับทุกคน”
ฟีเจอร์ใหม่ที่เปิดตัว ได้แก่:
การสร้างมาตรฐานการประเมินและการให้คะแนน:
- AI Assessment Generator – ช่วยประหยัดเวลาของผู้สอนโดยการสร้างแบบทดสอบที่หลากหลาย เช่น คณิตศาสตร์ ข้อความ และแบบปรนัย ที่ปรับแต่งตามรายวิชาและผนวกรวมเข้ากับการบ้านได้อย่างลงตัว
- Question Banks and Variants – จัดเตรียมคำถามหลากหลายรูปแบบสำหรับการทดสอบที่ครอบคลุม ทำให้การสอบคาดเดาได้ยากขึ้น และง่ายขึ้นต่อผู้สร้างข้อสอบ
- AI-Assisted Grading – ปรับปรุงกระบวนการให้คะแนนผ่านการเสนอคะแนนและข้อเสนอแนะตามการวิเคราะห์งานที่ได้รับ โดยที่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายยังคงเป็นหน้าที่ของผู้ตรวจงาน
การเสริมสร้างความโปร่งใสทางวิชาการ:
- Graded Item Locking – ให้ผู้เรียนทำงานที่ได้รับมอบหมายแบบไม่มีการประเมินเกรด ดูวิดีโอ และอ่านเนื้อหาทั้งหมดให้สำเร็จไปแต่ทีละขั้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่ครอบคลุมและป้องกันการข้ามขั้นตอนการเรียนไปล่วงหน้า
- Time and Attempt Limits – ควบคุมจำนวนครั้งในการสอบเพื่อให้แน่ใจถึงความเป็นธรรมในการสอบ ป้องกันการลองผิดลองถูก และจำกัดการเข้าถึงแหล่งข้อมูลภายนอก เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการไตร่ตรอง
- Proctoring and Lockdown Browser – รักษาความโปร่งใสของการสอบโดยการปิดกั้นแหล่งข้อมูลที่ไม่ได้รับอนุญาต พร้อมตรวจจับความช่วยเหลือที่ไม่ได้รับอนุญาตในระหว่างการสอบที่มีความสำคัญสูง
- Plagiarism Detection – ตรวจสอบและเปรียบเทียบเนื้อหาที่อาจคล้ายกับการส่งงานครั้งก่อน ๆ ได้ทันที เพื่อป้องกันการคัดลอกผลงาน และให้ความรู้นักเรียนเกี่ยวกับความสำคัญของการคิดอย่างอิสระและความคิดริเริ่มที่ไม่ซ้ำใคร
ยกระดับการเรียนรู้และประเมินผล:
- Quiz Prep and Prior Learning Recaps with Coursera Coach – เทคโนโลยีติวเตอร์ส่วนตัวขับเคลื่อนโดย GenAI และได้รับการเทรนเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญของ Coursera ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือในการเรียนรู้แบบเน้นการมีปฎิสัมพันธ์ (Interactive Learning) ช่วยสรุปเนื้อหาบทเรียน การฝึกปฏิบัติพร้อมคำแนะนำ และการทบทวนก่อนการประเมินก่อนที่จะถูกปรับแต่งให้เฉพาะบุคคล
- AI Peer Reviews – ช่วยอำนวยความสะดวกในการประเมินผลด้วยข้อมูลเชิงลึกที่ขับเคลื่อนด้วย AI ประเมินการส่งงานในรูปแบบข้อความ พร้อมให้เกรดตามเกณฑ์การให้คะแนน
- AI-based Viva Exam – วิเคราะห์คำตอบที่เขียนแบบความเรียง ร่วมกับเกณฑ์ในการประเมินผล สร้างคำถามวัดผลเฉพาะบุคคลเพื่อทดสอบความถูกต้องและวิธีการคิดวิเคราะห์เบื้องหลังคำตอบของผู้เรียน ช่วยให้ผู้สอนสามารถจัดสอบข้อเขียนแบบ viva-style ที่ผู้เรียนต้อง ‘แสดงวิธีทำ’ และให้ผู้ประเมินได้เห็นการวิเคราะห์อย่างละเอียด
“ฟีเจอร์ส่งเสริมความโปร่งใสทางวิชาการใหม่ของเรามอบโซลูชันที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถจัดการได้ทั้งโอกาสและความท้าทายที่เกิดจาก GenAI สถาบันการศึกษาสามารถใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้ออนไลน์ได้มากขึ้นเพื่อลดช่องว่างของหลักสูตร ออกแบบการศึกษาเฉพาะบุคคล และส่งมอบการเรียนรู้ในหลายสาขาวิชา” กล่าวโดย รากาฟ กุปตา กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก Coursera
มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้นำหลักสูตรของ Coursera ไปประยุกต์ใช้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างงานและเสริมสร้างทักษะที่หลากหลายให้แก่นักศึกษา โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้บูรณาการหลักสูตรของทาง Coursera ในหลากหลายภาควิชา เช่น วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสารสนเทศ และ วิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อเสริมสร้างทักษะทางการเงิน ดิจิทัล และ การสื่อสารให้แก่นักศึกษา