น้องๆ รร.บ้านหินดาด นครราชสีมา เรียนรู้ Coding ต่อยอดใช้ในชีวิตประจำวัน
ถึงแม้ว่าวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนบ้านหินดาด ต.หินดาด อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา จะพึ่งพิงอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ และเด็กๆในพื้นที่ อยู่ในบริบทของสิ่งแวดล้อมการเติบโตตามอัตลักษณ์ของชุมชน แต่ด้วยยุคสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่สนับสนุนให้สถานศึกษาพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เป็นการส่งเสริมโอกาสและยกระดับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน รร.บ้านหินดาด ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดกลาง เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีจำนวนนักเรียน 294 คน เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนในโครงการมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี ที่นำกระบวนการ Coding และ Robotics มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน ภายใต้โครงการ “Coding Robotics Kids”
และกำหนดให้ Coding อยู่ในแผนการเรียนการสอน สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้น โดยตั้งเป้าให้นักเรียนมีทักษะการเขียน โปรแกรมควบคุมบอร์ดสมองกล สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการศึกษาต่อและใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีวิทยากรจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาสนับสนุนการอบรมครูผู้สอน และมีผู้นำทางการศึกษารุ่นใหม่ (School Partner :SP) จากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่ชวนทีม Robot ของซีพีเอฟ และวิทยากรจากภายนอกมาร่วมสอนน้องๆ นักเรียน ฝึกให้นักเรียนมีทักษะการวางแผน คิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ด้วยกระบวนการ Coding Robotics นายสหพันธ์ เปาจันทึก ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหินดาด เล่าว่า แม้โรงเรียนจะได้รับการสนับสนุนแท็บเล็ตจาก สพฐ. แต่วัสดุอุปกรณ์สำหรับการเรียนการสอน Coding ก็ยังไม่เพียงพอ จึงนำเรื่องนี้ปรึกษากับทีมผู้นำทางการศึกษารุ่นใหม่ของซีพีเอฟ ภายใต้โครงการคอนเน็กซ์ อีดี เสนอโครงการ Coding Robotics Kids และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากซีพีเอฟ เพื่อจัดซื้อชุดการเรียนการสอน Coding ด้วยโปรแกรม Micro:bit นำมาต่อยอดการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ อาทิ ป. 3- ป.4 ให้เรียน Coding อย่างง่าย เช่น การต่อบล็อกควบคุมหุ่นยนต์ ชั้นป.5 เริ่มเรียนโปรแกรม Coding ไมโครบิท ต่อบล็อกโค้ด การทำงาน-ควบคุม-รับค่าเซ็นเซอร์ เปิดปิดไฟหรือวัดอุณหภูมิ ด้วย Coding ชั้นป.6 เรียนรู้การเขียน Coding การควบคุมหุ่นยนต์รถวิ่ง
“Coding สอนให้เด็กๆคิดวิเคราะห์ ฝึกทักษะคิดแก้ปัญหาเป็นกระบวนการ นำความรู้มาประยุกต์ใช้กับวิชาอื่นๆได้ ที่ผ่านมา จัดการสอนไปแล้ว 1 รุ่น มีนักเรียนประมาณ 40 คน ที่สามารถเขียน Coding อย่างง่ายได้ ภาคเรียนนี้จะสอนอีก1 รุ่น ประมาณ 40-50 คน ให้นักเรียนในชุมนุมการเขียนโปรแกรมด้วยไมโครบิท Coding เป็นพี่เลี้ยงส่งต่อความรู้ให้น้องๆ คาดหวังว่าในระยะต่อไป จะต่อยอดกระบวนการคิดจากบทเรียน สู่การทำสมาร์ทฟาร์มง่ายๆ” ผอ.สหพันธ์ กล่าว
ด.ญ.กัญญาพัชร แก้วขวาน้อย นักเรียนชั้นป.6 บอกว่า รู้สึกสนุกกับการเรียน Coding ได้ทำกิจกรรมเรียนรู้หลายอย่าง ที่สามารถนำความรู้ไปต่อยอด เช่น การทำโมเดลฟาร์มอัจฉริยะ ขอขอบคุณพี่ๆซีพีเอฟที่มอบโอกาสและสนับสนุนการเรียนรู้ดีๆ
ขณะที่ ด.ญ.ปิ่นมาลา จินดามาตย์ เล่าถึงสิ่งที่ได้รับ นอกจากความรู้จากการเรียน Coding ยังสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการเรียนรู้วิชาอื่นได้ ดีใจมากที่มีพี่ๆซีพีเอฟเข้ามาสนับสนุนโครงการดีๆอย่างนี้ให้กับโรงเรียนของเรา
ส่วน ด.ช.อภิณัฐ ตันกระโทก นักเรียนชั้นม.1 บอกว่า Coding ทั้งสนุกและให้ความรู้ที่นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ และยังได้ประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ สามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปช่วยชุมชนต่อไป
ซีพีเอฟ เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี เพื่อขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21 สร้างเด็กดี มีคุณธรรม โดยล่าสุด ปีการศึกษา 2567 ซีพีเอฟสนับสนุนการดำเนินโครงการด้านวิชาการ และฝึกทักษะด้านวิชาชีพ 74 โรงเรียน ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสระบุรี ควบคู่กับเดินหน้าสร้างผู้นำทางการศึกษารุ่นใหม่ (SP) ซึ่งปัจจุบันมี SP ของซีพีเอฟรวม 93 คน ทำหน้าที่เป็นคู่คิด ร่วมทำงานกับผู้บริหารสถานศึกษาและคณะครู สู่เป้าหมายยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของไทยและลดความเหลื่อมล้ำ ./