ซีพีเอฟ จับมือม.มหิดล ผลิตบุคลากร-เกษตรกร หนุนประสิทธิภาพกระบวนการผลิตข้าวโพดอาหารสัตว์
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ โดยบริษัท สวนสมบูรณ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการเพาะปลูกพืชเกษตร ร่วมมือทางวิชาการกับ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี พัฒนาหลักสูตรเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดอาหารสัตว์ เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านการเพาะปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ สร้างบุคลากรและเกษตรกรที่มีประสิทธิภาพ ยกระดับกระบวนการปลูกและผลิตข้าวโพดอาหารสัตว์ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MoU) โดยมี นายอดิศร์ กฤษณวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท สวนสมบูรณ์ จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อำนาจ เจรีรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดี ดร.ประภาพรรณ ซอหะซัน จุฑามาศ หัวหน้าสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร และคณาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร พร้อมด้วย นายเทพ เทพสถิต ที่ปรึกษาโครงการข้าวโพด นายประสิทธิ์ ชูนามะ รองผู้อำนวยการโครงการข้าวโพด สวนสมบูรณ์ ร่วมด้วย ณ ห้องประชุมนิลกาญจน์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
นายอดิศร์ กล่าวว่า บริษัท สวนสมบูรณ์ จำกัด เป็นบริษัทที่ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการเพาะปลูกพืชเกษตร อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจซีพีเอฟ ซึ่งภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ บริษัทฯ พร้อมนำประสบการณ์ ความรู้ เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ พัฒนาการจัดการการเพาะปลูกผ่านการทำงานร่วมกัน แบ่งปันข้อมูลการเพาะปลูกร่วมกับทางมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาการผลิตของบริษัทและเพิ่มประสิทธิภาพการสอนของทางมหาวิทยาลัย ช่วยผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพ และสร้างกลุ่มเกษตรกรที่มีความรู้ความสามารถในการเพาะปลูกที่จะเข้าร่วมโครงการเกษตรกรคนดี คนเก่งของบริษัทฯ
ทางด้าน ผศ.ดร.ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี กล่าวว่า หลักสูตรเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดอาหารสัตว์ เป็นการให้ความรู้ตั้งแต่ความเข้าใจในภาพรวมของการเกษตรทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติผ่านทางแปลงการเพาะปลูกของทางมหาวิทยาลัยและของบริษัทฯ การจัดหาแหล่งเงินทุน การคำนวณงบกำไรขาดทุน เปิดรับสมัครผู้สนใจโดยไม่จำกัดชั้นปีผู้ที่เข้าเรียนทั้งนักศึกษา รวมไปถึงบุคคลภายนอกหรือเกษตรกรที่สนใจ
สำหรับหลักสูตรเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดอาหารสัตว์ เป็นส่วนหนึ่งของหลัก สูตรนวัตกรรมการผลิตพืชแห่งอนาคต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร กลุ่มสาขาวิชาสหวิทยาการ วิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วย ภาพรวมการเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรของไทยและของโลก ข้อมูลทั่วไปด้านพืชที่จะเรียนรู้ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ขั้นตอนการปลูกทั้งรูปแบบการปลูก จำนวนประชากรเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการต่อไร่ ผลผลิตที่ได้สูงสุดต่อไร่ การเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เทคโนโลยีเทคโนโลยีการเกษตรและ IoT การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูก เช่น Smart Farm วิธีการคำนวนต้นทุน/กำไรจากการผลิตพืช ตั้งแต่การเตรียมแปลงจนถึงการเก็บเกี่ยว การหาแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการเพาะปลูกที่จำเป็น เป็นต้น