จุฬาฯ เปิดพื้นที่สนับสนุนการจัดงาน Bangkok Pride Festival 2024 ชวนทุกเพศทุกวัยภาคภูมิใจกับการเคลื่อนไหวที่เป็นประวัติศาสตร์ เพื่อสมรสเท่าเทียม

จุฬาฯ เปิดพื้นที่สนับสนุนการจัดงาน Bangkok Pride Festival 2024 ชวนทุกเพศทุกวัยภาคภูมิใจกับการเคลื่อนไหวที่เป็นประวัติศาสตร์ เพื่อสมรสเท่าเทียม

Bangkok Pride Festival 2024 เทศกาลเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 31 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน 2567 ภายใต้ธีม ‘Celebration of Love’ พร้อมสถานที่จัดงานที่พิเศษกว่าทุกปีคือย่านใจกลางกรุงเทพฯ กิจกรรมนี้มีอีเวนต์หลักที่เป็นสัญลักษณ์ของงานคือริ้วขบวนพาเหรดที่เต็มไปด้วยสีสันสุดตระการตา ซึ่งจะมีกิจกรรมต่าง ๆ และการเคลื่อนขบวนพาเหรดในวันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2567 ตั้งแต่เวลา 14.00 น. จากบริเวณลานหน้าสนามกีฬาเทพหัสดิน สนามกีฬาแห่งชาติ ถนนพระราม 1 มุ่งหน้าสู่แยกราชประสงค์ รวมระยะทางกว่า 2.5 กิโลเมตร

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้การสนับสนุนพื้นที่สนามกีฬาเทพหัสดินเป็นจุดเริ่มต้นขบวนพาเหรด ในงาน Bangkok Pride Festival 2024 โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้กล่าวรายงาน ท่ามกลางแขกรับเชิญและผู้มาร่วมงานจำนวนมาก เพื่อประกาศชัยชนะและความภาคภูมิใจต่อประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวเพื่อสมรสเท่าเทียมที่มีมากว่า 2 ทศวรรษ

รศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ รักษาการรองอธิการบดีด้านกิจการนิสิต จุฬาฯ หนึ่งในคณะกรรมการจัดงาน เปิดเผยว่า ขบวนพาเหรดในงาน Bangkok Pride 2024 ประกอบด้วยขบวนที่มีธีมที่ชัดเจนถึง 5 ขบวน ประกอบด้วย

  • ขบวนที่ 1 สมรสเท่าเทียม Love Wins เฉลิมฉลองชัยชนะที่ให้ความรักนำทาง ครอบคลุมทั้งในเรื่องของสิทธิและกฎหมายในการสมรสของทุกเพศ
  • ขบวนที่ 2 ตัวตน เพศกำหนดเอง Love for Identity เป็นการยืนยันในตัวตนทุกรูปแบบ เน้นการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ และการรับรองเพศสภาพ ทั้งบุคคลข้ามเพศ นอนไบเนอรี่ LGBTQIAN+ รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์
  • ขบวนที่ 3 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ Love for Dignity ขบวนนี้จะพูดถึงความภูมิใจ (Proud) และเฉลิมฉลองกับการใช้ความรักนำทางเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กลุ่มเปราะบางต่าง ๆ กลุ่มคนชายขอบ กลุ่มผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV เป็นต้น
  • ขบวนที่ 4 สันติภาพ Love for Peace & Earth ขบวนนี้จะใช้ความรักนำทางเพื่อสันติภาพต่อโลก ต่อมนุษย์ การหยุดสงคราม สร้างสันติภาพ และยังรวมไปถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม การลดคาร์บอน ภาวะโลกร้อน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะมนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวที่อาศัยอยู่บนโลกนี้ เราจึงต้องคืนความเป็นธรรมและความเท่าเทียมให้กับโลกและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ด้วย
  • ขบวนที่ 5 เสรีภาพ Love for Freedom ขบวนนี้จะพูดถึงเสรีภาพ สิทธิ หน้าที่ การแสดงออก การสร้างสรรค์เนื้อหาต่าง ๆ เสรีภาพในการแสดงเหตุผล ซึ่งจะเป็นสิ่งที่มีค่ามากทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ขบวนพาเหรดชุดต่าง ๆ มีความน่าสนใจและนำไปสู่การพูดคุยกันต่อ ซึ่งความยิ่งใหญ่ของทั้ง 5 ขบวนในงานนี้ หากสนใจธีมไหนเป็นพิเศษก็สามารถมาร่วมได้โดยไม่ต้องลงทะเบียน

รศ.ดร.สุกัญญากล่าวว่า ขบวนพาเหรดอันสนุกสนาน งดงาม ตระการตาทั้ง 5 ขบวนนี้ ผู้ที่มาร่วมงาน จะร่วมกันแต่งกายสร้างสีสันและสีแห่งการสร้างสรรค์ เป็นการรวมหัวใจ ความสนุกสนานของผู้คนที่จะสร้างความเท่าเทียมแห่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เกิดขึ้น เมื่อหัวใจของความเพลิดเพลินมารวมกันจะนำไปสู่ปัญญาและนำพาจิตวิญญาณได้ ทั้งนี้ จุฬาฯ โดยนิสิตและบุคลากรก็จะเข้าร่วมขบวนพาเหรดด้วย ถือเป็นส่วนหนึ่งของงานในครั้งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จุฬาฯ ให้ความสำคัญอย่างมากคือความเคารพ มองเห็นความงามในความหลากหลาย และความเท่าเทียมในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

Bangkok Pride Festival 2024 ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย หนึ่งในการแสดงที่น่าสนใจภายในงานคือการแสดงของน้อง ๆ ผู้พิการ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงคำว่า Pride ในหลากหลายมิติ รวมไปถึงการจัด Forum (เวทีพูดคุย) ที่หลากหลาย การเล่านิทานเด็ก และเวิร์คช็อปต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเท่าเทียม การศึกษา และอื่น ๆ สถานที่จัดงานคือ Lido Connect ซึ่งเป็นพื้นที่ในความดูแลของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ (PMCU) นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากห้างร้านต่าง ๆ ในพื้นที่ MBK Center กลุ่มสยามพิวรรธน์ และเซ็นทรัลเวิร์ล ในการเปิดพื้นที่ทำกิจกรรมในครั้งนี้ทั้งในรูปของคอนเสิร์ตและกิจกรรมบันเทิงอีกมากมาย

ในส่วนของกิจกรรมการเล่านิทานเด็ก ผู้สนใจสามารถร่วมงานได้ฟรีโดยไม่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า ซึ่งนิทาน แต่ละเรื่องจะจุดประกายให้เด็กเข้าใจว่าโลกนี้มีความหลากหลาย สร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน เมื่อเด็กเติบโตขึ้นมาจะได้มีความเข้าใจคนอื่นและเข้าใจตัวเองด้วย เข้าใจในอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน การที่เด็กได้เรียนรู้พร้อมผู้ปกครองก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารในครอบครัวและสังคมวงกว้างต่อไป

รศ.ดร.สุกัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการให้การสนับสนุนพื้นที่ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้แล้ว จุฬาฯ ยังให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมและความหลากหลายสะท้อนผ่านนิสิตและบุคลากรของจุฬาฯ ที่มีสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมาย ลดการกีดกันต่าง ๆ พร้อมความช่วยเหลือ มีการสื่อสาร พูดคุยให้คำปรึกษา สิ่งเหล่านี้เติบโตไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาในด้านอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัย

“เมื่อเราพูดถึงคำว่า Pride จะหมายถึงความภาคภูมิใจของมวลมนุษยชาติ เป็นการนำเสนอให้เห็นว่ามนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีความเท่าเทียม มีสิทธิ์ที่จะเลือกในการใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง นำเสนอตัวตนของตัวเองได้ในทุกรูปแบบ เพราะมนุษย์นั้นมีความหลากหลาย จุฬาฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญและพร้อมที่จะสนับสนุนให้เกิด movement ดังกล่าวขึ้น การแสดงพลังของ LGBTQIAN+ และกลุ่มต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น คือการแสดงออกซึ่งความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งอาจจะเคยถูกซ่อนเอาไว้ในมิติต่าง ๆ ปัจจุบันเป็นที่น่ายินดีที่ประเทศไทยเปิดโอกาสในเรื่องนี้ ไม่ว่าเราจะเป็นใคร เรามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับคนอื่น”

รศ.ดร.สุกัญญา มองว่าหากงาน Bangkok Pride Festival 2024 สำเร็จได้ด้วยดี ประเทศไทยอาจจะได้รับโอกาสประมูลงาน World Pride 2030 ซึ่งเป็นอีเวนต์ระดับโลกที่นานาประเทศต่างแข่งขันเพื่อเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในทุกด้าน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และตัวตนของมนุษย์ ซึ่งคนไทยและประเทศไทยจะได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอเชิญชวนผู้สนใจทุกเพศทุกวัยเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียม Bangkok Pride 2024 ภายในงานมีกิจกรรมทั้งทางวิชาการและความบันเทิง ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน 2567 ผู้สนใจติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ทาง https://bangkokpride.org

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ