ม.มหิดลมุ่งพัฒนาสิ่งแวดล้อมสู่’ปลายน้ำ’ เล็งสร้าง’ระบบบำบัดน้ำเสียนาโนเทค’
คำศัพท์ “ต้นน้ำ” (Upstream) “กลางน้ำ” (Midstream) และ “ปลายน้ำ” (Downstream) ปรากฏขึ้นครั้งแรกจากธุรกิจด้านพลังงาน น้ำมันและปิโตรเลียม ที่ว่าด้วยการเริ่มต้นสำรวจ ขนส่ง สู่การเป็นผลิตภัณฑ์
แต่เมื่อใช้กับทางด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากร “ต้นน้ำ” จะหมายถึง “การริเริ่ม” หรือเรียนรู้ที่จะอนุรักษ์ ส่วน “กลางน้ำ” จะเป็น “การดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อการอนุรักษ์” อาทิ 3R – Reduce Reuse Recycle และ “ปลายน้ำ” หมายถึง การอนุรักษ์ที่ “ออกดอกออกผล” ขับเคลื่อน – เปลี่ยนแปลงสู่การใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
รองศาสตราจารย์ ดร.กัมปนาท ภักดีกุล อดีตคณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงบันไดสู่ “สังคมไร้มลพิษ” The European Green Deal 2050 เพื่อ “โลกสีเขียว” ในอีก 26 ปีข้างหน้าว่า ไม่ได้สำคัญเพียงการตรากฎหมาย และบริหารจัดการ แต่ยังจะต้องทำให้เกิดการ “เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม” ที่จะนำไปสู่ “การปฏิบัติ” ได้
ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ “บันได” แห่งการบรรลุเป้าหมาย The European Green Deal 2050 จะต้องพึ่งพาการใช้พลังงานจากฟอสซิล (Fossils) หรือซากพืชซากสัตว์ให้น้อยที่สุด ซึ่งแม้ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่าง “ไต่ระดับ” ด้านส่งเสริมการใช้ “พลังงานสะอาด” แต่ปัจจุบันยังคงจัดว่า “Green” ไม่ได้ 100%
นอกจากนี้ หากมองในด้านปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางสำคัญด้าน “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ของโลกเช่นปัจจุบันอยู่ที่ “ทรัพยากรน้ำ” รองศาสตราจารย์ ดร.กัมปนาท ภักดีกุล นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มีผลงานโดดเด่นด้าน “การจัดการทรัพยากรน้ำด้วยเทคโนโลยี” มากถึง 6 เรื่องใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ภายใต้ทฤษฎีการจัดน้ำที่ให้ความสำคัญต่อทั้ง 3 ปัจจัยที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันทั้งการอนุรักษ์ป่า ดิน และน้ำ
โดยมองว่าเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียขั้นสูง (Advance Water Treatment Technology) จะเป็น “เทรนด์ใหม่” แห่งการพัฒนาสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักการทำให้น้ำบริสุทธิ์เพื่อกลับมาใช้ใหม่ซึ่งจะต้องอาศัย “นาโนเทคโนโลยี” มารองรับ ด้วยระบบการกรอง Membrane Filtration แบบผันกลับ (Reverse Osmosis) ซึ่งจะต้องอาศัยการลงทุนสูง และพื้นที่มาก
ด้วยหลักการ “รักษาสิ่งที่ดีอยู่แล้ว เพื่อสิ่งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น” คาดว่าเทรนด์ด้านการออกแบบ “อาคารลดโลกร้อน” จะทำให้ต่อไปมีการใช้ “หน้าต่างพลังสุริยะ” (Solar Windows) ซึ่งทำด้วยวัสดุจากเซลล์รับแสงอาทิตย์ที่สามารถแปลงเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาด นอกเหนือจากการใช้ “หลังคาพลังสุริยะ” (Solar Rooftops) กันมากขึ้น เพื่อรองรับกระแสโลกสู่การบรรลุ “สังคมไร้มลพิษ” The European Green Deal 2050 ต่อไป ภายใต้ความเชื่อที่ว่า “ประชากรโลกจะมีอนาคตที่ดี เพราะมีสิ่งแวดล้อมที่ดี”
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th