ต้อนรับศูนย์อินเดียฯ สู่สถาบันเอเชียศึกษา พร้อมเปิดตัวหนังสือพุทธโคดม : บทวิเคราะห์เชิงรัฐศาสตร์ ว่าด้วยพุทธประวัติในบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมอินเดียในสมัยพุทธกาล
ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย จัดงานต้อนรับศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศอจ.) เข้าสู่สังกัดสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ พร้อมเปิดตัวฉบับปรับปรุงแก้ไขของหนังสือ พุทธโคดม : บทวิเคราะห์เชิงรัฐศาสตร์ ว่าด้วยพุทธประวัติในบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมอินเดียในสมัยพุทธกาล เขียนโดย รองศาสตราจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล
โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายนาเกช ซิงห์ (H.E. Mr. Nagesh Singh) เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย รองศาสตราจารย์ ดร. ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์สุรัตน์ โหราชัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัย นางสาวศศิริทธิ์ ตันกุลรัตน์ อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมทีมคณาจารย์ บุคลากรสถาบันเอเชียศึกษา หน่วยงานรัฐบาลและเอกชน นิสิต รวมถึงสาธารณชน เข้าร่วมกิจกรรม
หนังสือพุทธโคดม ฯ ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทสารคดีของเซเว่นบุคส์อวอร์ด ประจำปี พ.ศ. 2557 มีเนื้อหาสาระนำเสนอพุทธประวัติผ่านมุมมองทางรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ซึ่งจัดว่าเป็นมุมมองที่พบเห็นได้น้อยในงานศึกษาพุทธประวัติที่มีมาก่อนหน้า หนังสือพุทธโคดม ฯ ได้ขาดตลาดไปเป็นเวลานานหลายปี และยังคงเป็นที่แสวงหาโดยนักอ่านมาตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ดังนั้นในโอกาสที่ ศอจ. เริ่มทศวรรษที่สองในการทำงานเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอินเดียสู่สังคมไทยภายใต้สังกัดใหม่ จึงได้นำต้นฉบับพุทธโคดมฯ มาตรวจแก้และปรับปรุงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพิ่มข้อความบางตอนโดยผู้เขียนและจัดพิมพ์ใหม่ ห่างจากการจัดพิมพ์ครั้งก่อนหน้าถึง 11 ปี โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อินเดียมีความสำคัญต่อความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงในเอเชียและจะเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้อาณาบริเวณศึกษาของสถาบันเอเชียศึกษามีความเข้มแข็งมากขึ้น และยังเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์พหุพาคีระหว่างไทย อินเดีย และประเทศอื่นๆในเอเชียอีกด้วย
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมที่จะร่วมมือกับอินเดียเพื่อเสริมให้ความสัมพันธ์นี้ยั่งยืนต่อไป โดยเชื่อมั่นว่าศูนย์อินเดียศึกษาจะเป็นจุดเชื่อมโยงให้เป้าหมายความร่วมมือนี้สำเร็จลุล่วง และนายนาเกช ซิงห์ เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย กล่าวถึงความเข้มแข็งและการขยายตัวของเครือข่ายศูนย์อินเดียศึกษาในไทยที่เพิ่มมากขึ้นและได้กล่าวขอบคุณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านอินเดียซึ่งไม่เพียงแต่นำไปสู่ความก้าวหน้าด้านวิชาการแต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศและประชาชนของทั้งสองประเทศ พร้อมเชิญชวนร่วมงานวันโยคะสากล ครั้งที่ 10 ในวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ณ สนามหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์
สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้กล่าวขอบคุณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้เกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดงานโยคะสากลมาอย่างต่อเนื่อง ภายในงานมีการเสวนาถึงหนังสือพุทธโคดม ฯ โดยรองศาสตราจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้เขียนพุทธโคดมฯ นายณัฐ วัชรคิรินทร์ บรรณาธิการร่วมของหนังสือพุทธโคดม ฯ และดำเนินเสวนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัชพล ศิริสวัสดิ์ หัวหน้าสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬา ฯ เนื้อหาโดยสรุปกล่าวถึงความโดดเด่นของหนังสือพุทธโคดมฯ และสาเหตุที่ควรอ่านหนังสือเล่มนี้
ทั้งนี้ภายในงานมีการจำหน่ายพุทธโคดม ฯ ในราคาพิเศษผู้ที่สนใจหนังสือพุทธโคดม ฯ ฉบับปรับปรุง สั่งซื้อได้ที่ Facebook Page: Indian Studies Center of Chulalongkorn University หรือ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ E-mail: [email protected]