วิศวะมหิดล ประกาศความสำเร็จ Mahidol Engineering Maker Expo 2024
วิศวะมหิดล ประกาศความสำเร็จ Mahidol Engineering Maker Expo 2024 เปิดเวทีโชว์สุดยอดผลงานคิดค้นสร้างสรรค์วิศวกรรม 5 คลัสเตอร์จากเมกเกอร์คนรุ่นใหม่
วิศวะมหิดล ตอกย้ำความสำเร็จ Mahidol Engineering Maker Expo 2024 “Capstone Project Presentation” ประชันงานวิจัยนวัตกรรมสุดสร้างสรรค์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 90 ผลงาน ครอบคลุมงานวิจัยและพัฒนา 5 คลัสเตอร์ ชิงเงินรางวัล รวมมูลค่า กว่า 90,000 บาท พร้อมเดินหน้าผลิตบัณฑิตที่มีทักษะและศักยภาพตอบโจทย์โลกยุคใหม่
รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากการที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดงาน Mahidol Engineering Maker Expo 2024 “Capstone Project Presentation” เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยน เผยแพร่องค์ความรู้ ผลงานวิจัยนวัตกรรมของนักศึกษาที่ตอบโจทย์การสร้างประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้มาพบเจอกับเมกเกอร์นักศึกษา และสามารถพูดคุย เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมนักศึกษาสู่โลกของการทำงานในวิชาชีพ
กิจกรรมไฮไลต์ในงาน Mahidol Engineering Maker Expo 2024 “Capstone Project Presentation” เป็นการแข่งขันการนำเสนอโครงงานวิศวกรรมของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งในรูปแบบ Pitching บนเวทีและรูปแบบ Poster ซึ่งในปี 2567 มีจำนวน 90 ผลงาน ครอบคลุมงานวิจัยและพัฒนา 5 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย วิศวกรรมชีวการแพทย์ (Healthcare Engineering) วิศวกรรมดิจิทัล (Digital Engineering) วิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Engineering) วิศวกรรมโลจิสติกส์และระบบราง (Logistics and Rail Engineering) และวิศวกรรมเคมีประยุกต์ (Applied Chemical Engineering) ชิงเงินรางวัล รวมมูลค่ากว่า 90,000 บาท
สำหรับผลงานที่ได้รางวัลชนะเลิศ Grand Prize รับเงินรางวัล 10,000 บาท เป็นผลงานจากคลัสเตอร์วิศวกรรมชีวการแพทย์ ได้แก่ Point-of-Care Testing for Latent Tuberculosis Screening on a Large Scale ซึ่งเป็นชุดตรวจวัณโรคแฝงแบบพกพา สามารถให้ผลตรวจอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 5 นาที โดยไม่ต้องส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการ
รางวัล Gold จำนวน 4 รางวัล ได้แก่ 1) ผลงาน Development of heavy metal sensor from fluorescent dye hybridized with high -purity functionalized multi-wall carbon nanotubes 2) ผลงาน Integrating Robot – Assisted Techniques with Real TimeAugmented Reality for Enhanced Spine Surgical Navigation 3) ผลงาน Design of Abnormal Inspection System in Steel Pipe Production for Defect Reduction และ 4) ผลงาน Smart Contract for Online Survey and Questionnaire
รางวัล Silver จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ผลงาน The repositioning-assisted device to prevent pressure sores และ ผลงาน การตรวจสอบท่าทางการเดินด้วยขาเทียมจากวิดีโอ
รางวัล Bronze จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 1) ผลงาน Backlash compensation and constellation tracker controller for consumer telescope 2) ผลงาน Smart Solar panel Fault detection และ 3) ผลงาน The Design and Efficiency Study of the Indoor Microalgae Photobioreactor for CCS รวมถึงผลงานที่โดดเด่นน่าสนใจและได้รับรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย
นอกจากการนำเสนอโครงงานวิศวกรรมของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว ภายในงานยังมีการบรรยายพิเศษ “การสร้างแรงบันดาลใจด้านมุมมองชีวิตหลังสำเร็จการศึกษา” โดย ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน และการเสวนา “The World Awaits: guide to study and living abroad” โดย ดร.ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ดร.ปานรวี รุ่งสกุลโรจน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี และ ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) กิจกรรมแข่งขันการควบคุมรถแข่งด้วยคลื่นสมอง (Hands-Free Mind Control Gaming) จาก Mahidol BCI Lab ซึ่งจะเป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมแข่งขันไซบาธอน 2024 (Cybathlon) หรือโอลิมปิกเทคโนโลยีระดับโลกเพื่อผู้พิการ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงเดือนตุลาคมรวมทั้งพิธีมอบเกียรติบัตรผลการเรียนดีพร้อมทุนการศึกษา ให้นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งสิ้นจำนวน 30 คน และเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติด้านกิจกรรมนักศึกษา จำนวน 13 ชมรม
“ภาพรวมการจัดงาน Mahidol Engineering Maker Expo 2024 Capstone Project Presentation ซึ่งเป็นการจัดแสดงผลงานวิจัยนวัตกรรมของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ศิษย์เก่า นักศึกษา นักเรียน และผู้สนใจเข้าร่วมงาน จำนวนกว่า 700 คน ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์งานวิจัย นวัตกรรม และวิชาการด้านวิศวกรรมเชิงบูรณาการระดับโลก เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีทักษะแห่งโลกยุคใหม่ มีความรู้ความสามารถในการพัฒนางานด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อตอบสนองสังคมโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบถ้วนในทุกมิติ” รศ.ดร.ธนภัทร์ กล่าว