สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดอบรมฟรี “Smart Drone อัจฉริยะ” เตรียมจับมือ MOU ประเทศจีน

สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดอบรมฟรี “Smart Drone อัจฉริยะ” เตรียมจับมือ MOU ประเทศจีน

สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ร่วมกับ สมาคมเยาวชนนักประดิษฐ์ (ประเทศไทย), สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรมอบรมบ่มเพาะนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ ในหัวข้อ “โดรนอัจฉริยะ” (Sky Innovator : Coding for Drone Mastery) เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมโดรน และเพิ่มทักษะความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง ระหว่างวันที่ 13-14 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืน (อาคาร 7) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมี อาจารย์พิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ นำทีมวิทยากรมาร่วมให้ความรู้ เพื่อถ่ายทอดให้แก่ผู้เรียน ได้เข้าใจถึงพื้นฐานของโดรน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงการฝึกปฏิบัติประกอบโดรนให้สามารถบินได้ด้วยตนเอง เพื่อที่จะให้เห็นหลักการทำงานองค์รวมของโดรนได้อย่างแท้จริง เพื่อกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนได้เข้าใจและเห็นประโยชน์ของการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้น

นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวเปิดเผยถึงการจัดอบรมครั้งนี้ว่า “สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ และ สมาคมเยาวชนนักประดิษฐ์ (ประเทศไทย) เปิดอบรมฟรีการเขียนโปรแกรมโดรนแปรอักษรให้กับเยาวชนทั่วประเทศ ซึ่งมีเยาวชนนักเรียนทั่วประเทศ ส่งตัวแทนโรงเรียนละ 10 คนเข้ามาร่วมในการฝึกอบรม ซึ่งสมาคมฯ ได้เปิดอบรมวันละ 50 คนเท่านั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนั้นทางสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้รับการติดต่อจากประเทศจีน ในการทำ MOU เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ซึ่งถือว่าประเทศไทยเป็นสมาคมแรกที่ได้ทำ MOU ด้วย นอกจากห้องฝึกอบรมของสมาคมเยาวชนนักประดิษฐ์ไทย ที่จัดให้มีการฝึกอบรมและทางด้านการเรียนการสอนแล้ว ทางสมาคมยังมีศูนย์การพัฒนาเทคโนโลยีอยู่ที่ ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้เยาวชนและผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรม สามารถไปฝึกอบรมจากสถานที่จริง ที่มีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ได้อีกด้วย”

“โครงการนี้เป็นโครงการเพื่อที่จะสร้างนักบินรุ่นใหม่ เราไม่มองว่านักเรียนเขาจะมาจากที่ไหน มีเงินร่ำรวยแค่ไหนนะครับ แต่เราเปิดโอกาสให้กับนักเรียน เด็ก ๆ ชาวบ้าน ทั้งในเขตเมืองและนอกเมือง ตามจังหวัดต่าง ๆ เข้ามาร่วมอบรมและเรียนรู้กับเราได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งในโครงการของเราที่ทำตรงนี้ เราทำมาตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน เรามีนักเรียน-นักศึกษาทั่วประเทศ และจากการที่เราให้ความรู้ไปอย่างนี้ ณ ปัจจุบัน สังเกตนะครับ กฎหมายการบินก็ออกและเกิดขึ้นมาได้ เพื่อควบคุมการบินเพื่อไม่ให้ไปละเมิดสิทธิต่อบุคคล แต่ ณ ปัจจุบันนี้เด็กไทย เราก้าวกระโดดแล้ว ก้าวไปสู่การที่จะผลิตและสร้าง UA V ได้ด้วยตนเองนะครับ ซึ่งตรงนี้เป็นเหตุทำให้หลายเจ้า หลายประเทศ อยากจะเข้ามาคล้ายกับประเทศไทยและลักษณะของการทำ MOU บอกได้เลยครับว่าเราโชคดีตรงที่ไม่จำเป็นต้องไปเสียเงินค่าเปิดโม ไม่ต้องไปเสียเงินค่าเปิดโหมดที่จะไปฉีดโครงสร้างใบพัดรูปทรงต่าง ๆ เรื่องของบอดี้ครับ การทำ MOU ร่วมกัน เราได้ฮาร์ดแวร์ของเขามาซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าจีนเป็นประเทศที่พัฒนาอย่างรวดเร็วอยู่แล้ว เขามีซอฟต์แวร์ที่ดี ผมมองว่าการที่เข้ามาก็จะเกิดประโยชน์ว่าในอนาคตเราอาจจะได้ทั้งซอฟต์แวร์แล้วมาพัฒนาคนของเรา ให้ทำซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์เก่งเทียบเท่าเขา และสุดท้ายอาจจะแซงหน้าเขาในอนาคตก็ได้ครับ”

น.ส.ชนัญธิดา อุปัชฌาย์ โรงเรียนพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ตัวแทนนักเรียนที่เข้าร่วมอบรม กล่าวว่า “จากการที่เรามีพื้นฐานมาจากภาษาโปรแกรม Python อยู่แล้วค่ะ ก็ได้ฝึกเขียนปรับแต่งไปจากภาษาไพธอนค่ะ เหตุการณ์นำไปต่อยอดในการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน ในเดือนกรกฎาคม 2567 ณ โรงเรียนพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ค่ะ ก็อยากจะขอบคุณ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ร่วมกับ สมาคมเยาวชนนักประดิษฐ์ (ประเทศไทย), สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ที่จัดกิจกรรมมีให้กับพวกเราได้เข้าอบรมฟรีค่ะ”

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ