Thai PBS จับมือ 9 มหาวิทยาลัย สร้างเครือข่ายศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อสาธารณะในภูมิภาค และเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น ประกาศเจตนารมณ์ส่งเสริมระบบนิเวศสื่อสาธารณะของท้องถิ่นที่มีคุณภาพ

Thai PBS จับมือ 9 มหาวิทยาลัย สร้างเครือข่ายศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อสาธารณะในภูมิภาค และเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น ประกาศเจตนารมณ์ส่งเสริมระบบนิเวศสื่อสาธารณะของท้องถิ่นที่มีคุณภาพ

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยและเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น จัดงาน “แนะนำเครือข่ายศูนย์สื่อสร้างสรรค์เพื่อสาธารณะและเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น” (Thai PBS Locals Open House) เพื่อแนะนำลักษณะงานและบริการสาธารณะของ ศูนย์สื่อสร้างสรรค์เพื่อสาธารณะ (RegionalCreative Hub for Public) และสื่อสาธารณะท้องถิ่น ต่อภาคีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขอความคิดเห็น คำแนะนำ และมองหาโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือในอนาคต เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

ภายในงานได้มีเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยน “บทบาทมหาวิทยาลัยกับสื่อภูมิภาคเพื่อสาธารณะ” ระหว่าง คณะกรรมการนโยบาย นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบาย  ส.ส.ท.  และคณะผู้บริหาร ส.ส.ท. นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย ทั้ง 9 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

พร้อมทั้งได้มีการลงนามในบันทึกแสดงเจตนารมณ์ร่วม (Statement of Intent) ของมหาวิทยาลัยทั้ง 9 แห่ง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และไทยพีบีเอส เพื่อร่วมผลักดันให้เกิดศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อสาธารณะระดับภูมิภาค (Regional Creative Hub) และส่งเสริมการเกิดขึ้นของเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น ซึ่งเข้าร่วมงาน รวม 15 เครือข่ายประกอบด้วย เลนส์ไทบ้าน, ซาวอีสาน, อุบลคอนเนก, The region, RO’ โร้วล์, วิทยุภาษามลายู, สงขลาใกล้ใกล้ทะเล, ลำลอง, เชียงใหม่เหน็ด, เชียงรายสนทนา, The Local, RAT RI LAB – ราดรี แล็บ, Dot easterners, Epigram News และ Thai News pix เพื่อร่วมกันนำคุณค่าของท้องถิ่นสู่ระดับประเทศและสากล ผ่านการผลิตและจัดหาเนื้อหารายการตามแนวทางและมาตรฐานของสื่อสาธารณะ และส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศสื่อสาธารณะของท้องถิ่นที่มีคุณภาพ สะท้อนอัตลักษณ์และยั่งยืน

โดยทั้ง 9 มหาวิทยาลัย จะริเริ่มก่อตั้งศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อสาธารณะ (Regional Creative Hub for Public) ทำหน้าที่ เป็นหน่วยบริการสาธารณะ  (Public Service Unit) ที่มีเป้าหมายสร้างผลกระทบทางสังคมในระดับภูมิภาค มีบทบาทเช่น เป็นศูนย์ภูมิภาคด้านการพัฒนาเนื้อหาและบรรณาธิการ  ศูนย์ภูมิภาคด้านการผลิต โดยมีสถานที่ เช่นสตูดิโอ เครื่องมือให้บริการ  และศูนย์เรียนรู่สื่อสาธารณะ เช่น การฝึกอบรมทักษะการผลิตหรือบริหารสื่อในลักษณะต่างๆ  ขณะที่เครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น (Local PBS) ทำหน้าที่สื่อสารข่าวสารจากส่วนกลางและประเทศสู่ท้องถิ่นในรูปแบบที่เหมาะสม ผลิตและพัฒนาชุดสื่อสารคุณภาพสูงของเนื้อหาท้องถิ่น สื่อสารข่าวสารและข้อมูลเฉพาะของท้องถิ่นสู่คนท้องถิ่น  ให้บริการสาธารณะเพื่อท้องถิ่น 

นอกจากนี้ สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ส.ส.ท ยังได้เปิดตัว  4 ยูนิต ที่มีผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อการสื่อสารที่จะเป็นเครื่องมือหนุนเสริมการเกิดระบบนิเวศสื่อสาธารณะและขยายการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมที่หลากหลายอีกด้วย 

  1. C-site ยูนิตที่สร้างการสื่อสารจากพลเมืองนักสื่อสาร โดยมีแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ หนุนเสริมการรายงานข่าวของนักข่าวพลเมือง ปักหมุดจุดประเด็นเห็นความเชื่อมโยงของข่าวสารท้องถิ่น ในรูปแบบของ Geolocation ที่เวอร์ชั่นใหม่พัฒนาสู่การทำงานเก็บข้อมูลเชิง DATA และ Citizen Journalist Academy หลักสูตรสื่อภาคพลเมืองที่จะทำงานแนบแน่นกับสถาบันการศึกษา ทำหลักสูตรสำหรับคนอยากสื่อสารสาธารณะ
  2. Locals ยูนิตสร้างสรรค์งานผลิตชุดการสื่อสาร รายการ และกิจกรรมส่งเสริมประเด็นสาธารณะของท้องถิ่น ผ่านการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น และเครือข่ายนักสื่อสารพลเมืองที่มีคุณภาพและยั่งยืน และร่วมเป็นหุ้นส่วนกับไทยพีบีเอส โดยแบ่งการทำงานเป็น 5 ภูมิภาค เพื่อหนุนเสริม เชื่อมประสานกับมหาวิทยาลัยให้เกิด Regional Creative Hub for Public ศูนย์สื่อสร้างสรรค์เพื่อสาธารณะระดับภูมิภาค เชื่อมกับ Local PBS Network เครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น และนักสื่อสารพลเมืองคุณภาพสูง โดย Locals ยังเป็น Platform Website และ วารสาร Public Journal พื้นที่สื่อเพื่อท้องถิ่นร่วมสมัยที่จะสร้างการรับรู้ เรียนรู้ เติมเต็ม และแลกเปลี่ยนเรื่องราวของท้องถิ่นไทย เพื่อให้คนท้องถิ่นและสังคมโลก เข้าใจคุณค่า เท่าทันความเปลี่ยนแปลง และกำหนดอนาคตของท้องถิ่นตนเองได้ โดยมีการเชื่อมโยงกับพื้นที่สื่ออื่น ๆ ของไทยพีบีเอส ทั้ง Website รายการนักข่าวพลเมือง รายการคุณเล่าเราขยาย รายการฟังเสียงประเทศไทย
  1. Public Intelligence โครงการห้องทดลองปัญญารวมหมู่ ที่จะมีทีมออกแบบระบบ-ส่งเสริมการมีส่วนร่วมสาธารณะ ผ่านเครื่องมือ การเปิดพื้นที่ สร้างสรรค์กิจกรรมภายใต้แนวคิดปัญญารวมหมู่ซึ่งดำเนินการโดยสื่อสาธารณะ
  2. Decode.plus สื่อออนไลน์คุณภาพโดยคนรุ่นใหม่ Crack&Craft for Future Generation ที่ใช้ความสร้างสรรค์ในการเล่าเรื่องกับสกิล Journalist เพื่อตั้งคำถามใหม่ ๆ แบบไม่มีคำตอบสุดท้าย ซึ่งกำลังเริ่มโปรเจ็กต์ CO-OP Writer ระบบนิเวศใหม่ของนักอ่าน-นักคิด-นักเขียน แพลตฟอร์มที่รอทุกคนร่วมเป็นเจ้าของ คอมมูนิตี้ของคนอยากอ่านบทความ Non-fiction เรื่องสั้นและบทกวี

ภายในงานยังได้เชิญเครือข่ายองค์กรด้านนโยบายและส่วนกลางที่มีบทบาทสำคัญในการหนุนเสริมการสื่อสารสาธารณะในหลากหลายลักษณะ  กว่า 30 เครือข่ายองค์กร รวมถึงศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG Move เพื่อร่วมรับฟัง หารือ ให้คำแนะนำในการออกแบบการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม

กิจกรรมสำคัญภายในงานยังมีบรรยายพิเศษ “คุณค่าและบทบาทของเครือข่ายสื่อระดับท้องถิ่นในภูมิทัศน์สื่อดิจิตอลและทิศทางส่งเสริมในอนาคต” โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งเน้นย้ำถึงความหลากหลายซึ่งเป็นคุณค่าของสื่อชุมชน สื่อท้องถิ่น และสื่อภูมิภาค 

ส.ส.ท. หรือไทยพีบีเอส ถือว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญของการเป็นสื่อสาธารณะ คือความริเริ่มให้เกิดระบบนิเวศที่ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น และเครือข่ายสื่อพลเมืองกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ และได้มีการปรับบทบาทหน้าที่ของไทยพีบีเอส “พัฒนาคน พัฒนาพื้นที่ พัฒนาสื่อ”เพื่อเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญของระบบนิเวศสื่อของประเทศไทย ที่จะมีส่วนสร้างคนคุณภาพในพื้นที่ให้เป็นพลเมืองของโลก (Global Citizen) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 คำสัญญา ที่ไทยพีบีเอสได้ประกาศไว้

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ