ม.วลัยลักษณ์ร่วมจัดเวิร์กช้อปให้แก่เกษตรกร ภายใต้โครงการฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพลูกค้าพักชำระหนี้ของ ธ.ก.ส.
รศ.ดร.วาริน อินทนา อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรม ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ผลิตและบริการชีวินทรีย์เกษตรและศูนย์ AIC นครศรีธรรมราช ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดองค์ความรู้หัวข้อ “การจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน” จัดขึ้นภายใต้โครงการฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพลูกค้าพักชำระหนี้ หลักสูตร “ฟื้นฟูพัฒนาอาชีพเดิม อาชีพเสริม เพิ่มอาชีพใหม่” ให้แก่กลุ่มเกษตรกร
ซึ่งเป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. สาขาท่าศาลา สาขาพรหมคีรี สาขานบพิตำ สาขาปากน้ำกลาย และสาขาสิชล มีผู้ร่วมอบรมจำนวนกว่า 1,060 คน เมื่อวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมาและจะจัดอีกครั้งในวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคมนี้ ณ หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยในพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก นายสิทธิชาติ จันทร์เกิด ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ
รศ.ดร.วาริน อินทนา กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราชพบปัญหาเกี่ยวกับโรคและแมลงศัตรูพืชต่างๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหากับต้นพืช โดยเฉพาะไม้ผลเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ทุเรียน มังคุด ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และสละ ฯลฯ ส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตพืชเสียหายเป็นอย่างมาก ทำให้เกษตรกรหันไปใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชเป็นหลักเพราะให้ผลเร็วและสะดวกต่อการใช้งาน แต่การใช้สารเคมีปริมาณมากเกินความจำเป็นและต่อเนื่องในระยะยาวจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ทั้งอันตรายต่อเกษตรกร ผู้บริโภคและสภาพแวดล้อม และทำให้ศัตรูพืชเกิดความต้านทานสารเคมีจึงต้องใช้สารเคมีหลายชนิดร่วมกันและใช้ปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
การอบรมการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสานในครั้งนี้จะทำให้เกษตรมีความความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการศัตรูพืชอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกวิธี ถูกเวลาตามการระบาดของศัตรูพืช ช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมี ยกระดับปริมาณและคุณภาพผลผลิต สร้างความมั่นคงและยั่งยืนของเกษตรกรไทย
“การจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน เป็นการนำทั้งวิธีเขตกรรม วิธีชีวภาพและวิธีใช้สารเคมีมาประยุกต์ใช้ร่วมกันอย่างสมดุลส่งผลให้ประสิทธิภาพในการจัดการศัตรูพืชดีขึ้น มีความปลอดภัย คุ้มค่าทางเศรษฐกิจและมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น”รศ.ดร.วาริน กล่าวย้ำในตอนท้าย
ทั้งนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมการพัฒนาอาชีพเดิมคือ อบรมเชิงปฏิบัติการ “การจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน การจัดการพืชก่อนและหลังเก็บเกี่ยว การสาธิตและปฏิบัติการขยายเชื้อราไตรโคเดอร์มา” กิจกรรมพัฒนาอาชีพเดิม อาชีพเสริม เพิ่มอาชีพใหม่ จากประธานกลุ่มวิสาหกิจที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ และปิดท้ายกิจกรรมด้วย “ความรู้ทางการเงินกับ ธ.ก.ส” อีกด้วย