ม.วลัยลักษณ์ ร่วมภาคีเครือข่ายและ 10 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย จัดสัมมนาวิชาการการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน “SoTL9”
ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับกระทรวงอว. สถาบันคลังสมองของชาติและ 10 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย จัดสัมมนาวิชาการการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน “SoTL9” เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวทางการจัดการศึกษาในโลกสมัยใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน
ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)สถาบันคลังสมองของชาติ และ 10 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย จัดสัมมนาวิชาการการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ครั้งที่ 9 ประจำปี พ.ศ. 2567 (Scholarship of Teaching and Learning: SoTL9) ภายใต้หัวข้อ Evolving Pedagogies and Thai Higher Education เพื่อมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความรู้สมัยใหม่ที่พัฒนาระบบการจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบัน และอนาคตสู่การพัฒนามหาวิทยาลัยให้มีมาตรฐานระดับสากล ระหว่างวันที่ 1-3 พฤษภาคม 2567 โดยพิธีเปิดในวันนี้ (2 พ.ค.’67) ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การพัฒนาการเรียนการสอนในยุคดิจิทัล” ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวต้อนรับ พร้อมบรรยายพิเศษเรื่อง “การปฏิรูปการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุธัญญา ด้วงอินทร์ รักษาการแทนผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศการเรียนการสอน กล่าวรายงาน รองศาสตราจารย์ ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายในหัวข้อ “Co-Creating Education พัฒนาทักษะรุ่นใหม่ตอบโจทย์ความต้องการของโลก” พร้อมคณะผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย คณาจารย์ นักศึกษา และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมศรีธรรมราช อาคารสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า ในฐานะมหาวิทยาลัยเจ้าภาพหลัก ในการจัดงานโครงการสัมมนาวิชาการ การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ครั้งที่ 9 ประจำปี พ.ศ. 2567 (Scholarship of Teaching and Learning: SoTL9) ซึ่งดำเนินการร่วมกับเจ้าภาพร่วม 12 หน่วยงาน โดยมีวัตุประสงค์เพื่อจัดกิจกรรมเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ บทเรียน กรณีศึกษา ตัวอย่างและแนวทางการศึกษาสมัยใหม่ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเรียนการสอน ตลอดจนนโยบาย บทบาทและทิศทางของระบบนิเวศและสถาบันการศึกษาที่เปลี่ยนไป เพื่อส่งเสริมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาผลงาน ความคิดสร้างสรรค์ และสิ่งประดิษฐ์ทางการศึกษา เทคโนโลยีการเรียนการสอน บทเรียนจากการนำไปใช้ในห้องเรียนจริงและเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างเครื่อข่ายและความร่วมมือทางวิชาการระหว่างบุคลากรและสถาบันการศึกษา
ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มของสถาบันอุดมศึกษาไทยมีการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อตอบสนอง ต่อความต้องการของผู้เรียนโดยเน้นคุณภาพ และการพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่ระดับมาตรฐานสากล สถาบันอุดมศึกษาไทยจึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษาในหลาย ๆ ด้าน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้สามารถแข่งขันกับสถาบันอุดมศึกษาอื่นได้ รวมทั้งนำไปสู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงในระดับสากลที่จะตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ดังนั้นการศึกษาในยุคปัจจุบันอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดดในสถานการณ์และความต้องการของโลกที่พลิกผันและรุนแรง บทบาทของสถาบันการศึกษา บทบาทของผู้เรียนและผู้สอนที่ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับโครงการสัมมนาวิชาการการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน (SoTL9) ในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ร่วมกับสถาบันคลังสมองของชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภายในงานยังมีการบรรยายพิเศษ การเสวนาวิชาการ การอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการศึกษา จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและการจัดแสดงนิทรรศการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการศึกษา (Modern Education Expo) กิจกรรมการนำเสนอผลงาน Show and Share ด้านสื่อและนวัตกรรมทางด้านการเรียนการสอน และนวัตกรรมบริการทางการเรียนการสอน จำนวน 30 ผลงาน โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากสถาบันคลังสมองของชาติ การสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานเอกชน จำนวน 26 บริษัท และได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยในเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 24 คน