กระทรวงพาณิชย์ MOU สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดโครงการ Family Business Thailand เสริมแกร่งทายาทสานต่อธุรกิจครอบครัวให้คงกระพัน
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ลงนาม MOU จัดโครงการ Family Business Thailand สร้างธุรกิจครอบครัวของไทยให้มีความเข้มแข็ง ทายาทมีความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างเป็นระบบ เพราะกว่า 80% ของธุรกิจในประเทศไทยคือธุรกิจครอบครัว การสืบทอดธุรกิจจึงต้องใช้ความรู้ความเข้าใจและการสื่อสารในครอบครัวที่ดี เข้าใจถึงความแตกต่างของคนแต่ละช่วงวัย และเปิดใจให้คนรุ่นใหม่นำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ โครงการนี้จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจครอบครัวสามารถส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้ไม่รู้จบ
นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานและพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการ “Family Business Thailand ว่า “ในวันนี้ (4 เมษายน 2567) กระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดพิธีลงนาม MOU โครงการ Family Business Thailand ณ ห้องไทรทอง อาคาร 3 ชั้น 4 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวอย่างมืออาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มทายาทธุรกิจ SME รายเล็ก สมาชิกเครือข่าย YEC ทั่วประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการเร่งพัฒนาธุรกิจ SME ไทยให้มีความพร้อมในการแข่งขัน โดยเฉพาะการสืบทอดธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นซึ่งมีอยู่ในทุกประเทศมาอย่างยาวนาน รวมถึงในประเทศไทยด้วย ปัจจุบันมีสัดส่วนราว 80% ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศไทย นับเป็นหน่วยขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี พบว่าธุรกิจครอบครัวต้องเผชิญกับปัญหาด้านการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด การบริหารความขัดแย้งที่มักจะเกิดจากความเห็นที่แตกต่างกันของคนในครอบครัวซึ่งมีประสบการณ์อยู่ในแต่ละยุคสมัย และการขาดองค์ความรู้ในการบริหารธุรกิจครอบครัวอย่างแท้จริง ดังนั้น MOU ฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่จะเชื่อมโยงให้ธุรกิจครอบครัวมีองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ และการพัฒนาตลาดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่างๆ อันจะนำมาซึ่งข้อมูลที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ในการสร้างโอกาสทางการค้า ประกอบกับบริหารเครือข่ายให้แก่ธุรกิจครอบครัวสามารถสืบทอดต่อไปได้ อีกทั้งขับเคลื่อนและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SME ได้อย่างเป็นรูปธรรมสอดรับกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่มุ่งผลักดันให้ SME เพิ่ม GDP ให้ได้ไม่น้อยกว่า 40% ภายในปี 2570
จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ประเทศไทยมีธุรกิจครอบครัวที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 1,526 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ 77.58 ของบริษัททั้งหมด และมีเพียงร้อยละ 30 ของธุรกิจครอบครัวเท่านั้นที่สามารถดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดและส่งผ่านไปสู่รุ่นที่ 2 ได้สำเร็จ และเพียงร้อยละ 12 สามารถส่งผ่านไปสู่รุ่นที่ 3 และมีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่รอดไปสู่รุ่นที่ 4 ตามลำดับ จึงเป็นความท้าทายของทายาทธุรกิจในการพาธุรกิจของตระกูลให้สืบทอดต่อไปได้ อย่างไรก็ดี ความร่วมมือภายใต้ MOU ครั้งนี้จะช่วยพัฒนาให้ธุรกิจครอบครัวสามารถบริหารจัดการธุรกิจให้อยู่รอดอย่างแข็งแรงได้ ถือเป็นมิติใหม่ที่สำคัญและมาถูกทางเพราะที่ผ่านมามีการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบต่างๆ แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงธุรกิจครอบครัวเท่าไหร่นัก การ MOU ในครั้งนี้จะช่วยเข้าไปเสริมความเข้มแข็งธุรกิจได้เดินหน้าต่อ รวมถึงสะท้อนถึงอุปสรรคเชิงลึกที่ธุรกิจครอบครัวจะต้องพบทำให้ภาครัฐและเอกชนสามารถนำมาวางแผนการส่งเสริมธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดในอนาคต”
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า “การลงนาม MOU โครงการ Family Business Thailand นับเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่ร่วมแรงร่วมใจส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการไทย โดยใช้ศักยภาพของแต่ละหน่วยงานเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องสนับสนุนการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจครอบครัวทั่วประเทศ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่มีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้และให้คำปรึกษาแนะนำในธุรกิจครอบครัวเพื่อส่งผ่านธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างยั่งยืน สำหรับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะทำหน้าที่ในการสนับสนุนข้อมูลธุรกิจเพื่อวางแผนการพัฒนาธุรกิจครอบครัวให้เข้มแข็ง ประกอบกับจัดอบรมในหัวข้อที่เกี่ยวข้องและวิทยากรให้ความรู้ด้านการทำธุรกิจแบบมืออาชีพ ซึ่งกิจกรรมแรกจะเริ่มจัดอบรมหลักสูตร Family Business Thailand ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2567 ณ ศูนย์ประชุม 1 ศตวรรษ ชั้น 6 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 26 เม.ย.2567 อบรมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ขณะนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 51 ธุรกิจ ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวที่หลากหลายทั้งกลุ่มที่ผลิตสินค้าและการให้บริการ”
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สภาหอการค้าฯ ตระหนักถึงความสำคัญของธุรกิจครอบครัว รวมทั้งสนับสนุนการสานต่อและพัฒนาธุรกิจครอบครัวให้เข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ธุรกิจครอบครัวขนาดเล็ก และขนาดกลางได้รับผลกระทบจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับยังขาดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างเหมาะสม ทำให้ธุรกิจครอบครัวไม่สามารถปรับตัวได้ทันภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การ MOU ภายใต้โครงการ Family Business Thailand ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันให้กับธุรกิจครอบครัวอย่างรอบด้าน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะที่เป็นองค์กรเอกชนที่มีนักธุรกิจมากด้วยประสบการณ์และความสามารถ พร้อมสนับสนุนบุคลากรเพื่อให้คำปรึกษา แนะนำ และจัดหาวิทยากรเพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านบริหารจัดการธุรกิจครอบครัว ผนวกความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันศึกษาพร้อมส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป”
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า “ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาเพื่อทำหน้าที่ส่งต่อองค์ความรู้ และบริการทางด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีความยินดีที่จะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ในโครงการ Family Business Thailand ทั้งหลักสูตรระยะสั้น และหลักสูตรระยะยาว (Degree & Non-Degree) กับเจ้าของธุรกิจครอบครัว ตลอดจนทายาท เพื่อนำองค์ความรู้สำหรับการเร่งสร้างการเติบโต ควบคู่ไปกับการปรับใช้เทคโนโลยีในธุรกิจ พร้อมทั้งใช้ประโยชน์จากเครือข่ายธุรกิจครอบครัว เพื่อต่อยอดธุรกิจให้เติบโตและส่งต่อธุรกิจได้จากรุ่นสู่รุ่น”
รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล ผู้รับผิดชอบโครงการ Family Business Thailand ได้สะท้อนมุมมองในฐานะที่เป็นปรึกษาธุรกิจครอบครัวว่า “ธุรกิจครอบครัวถือเป็นนักรบทางเศรษฐกิจ” ที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย โดยสามารถสร้างรายได้ประมาณ 60-70% ของ GDP ทว่า ส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาในการสืบทอดธุรกิจ จนมีคำกล่าวว่า ธุรกิจครอบครัวมักจะส่งต่อกันได้ไม่ถึงรุ่นที่ 3 เนื่องจากศาสตร์การบริหารธุรกิจครอบครัวเป็นศาสตร์เฉพาะด้านที่มีการบ่มเพาะ ถ่ายทอดกันในวงจำกัด ดังนั้น การผนึกกำลังกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาเป็น “สามประสาน” จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ประเทศไทยจะสามารถขยายฐาน “กองทัพนักรบทางเศรษฐกิจ” ที่แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบ”
ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดตามและสมัครเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่จัดร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ทางเว็บไซต์ www.dbd.go.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองธุรกิจบริการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร. 02 5475985 หรือสายด่วน 1570