ม.มหิดลผุดไอเดียสร้าง “สถานีพยาบาล” แหล่งเรียนรู้เรื่องสุขภาวะ
แม้ “โรงพยาบาลรามาธิบดี” จะอยู่ในกลุ่มโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทยที่มีศักยภาพรองรับผู้ป่วยได้มากกว่า 1,000 เตียงขึ้นไป แต่เมื่อถึงคราวฉุกเฉิน ดังเช่นวิกฤต COVID – 19 ที่ผ่านมา ทำให้ทุกคนได้ค้นพบว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนที่ดีที่สุดด้านสุขภาวะ”
จากประสบการณ์ของ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ได้ระดมสรรพกำลังอาจารย์พยาบาล พยาบาล และบุคลากร 200 ชีวิต อุทิศเพื่อสุขภาวะของปวงชนชาวไทย ผ่าน Call center นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันได้ขยายผลสู่ “สถานีพยาบาล” แหล่งเรียนรู้เรื่องสุขภาวะ พร้อมให้บริการอย่างไร้ขีดจำกัดผ่าน Facebook Live
โดยจะทำให้ต่อไปช่วงพักเที่ยงของทุกวันที่ 2 ของทุกเดือนจะเป็นช่วงเวลาที่มีความหมาย พร้อมจอดป้ายคุยเฟื่องเรื่องสุขภาพ นับตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2567 เวลา 12.30 – 13.00 น.เป็นต้นไป
รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทางทีมผลิตสื่อ “สถานีพยาบาล” เลือกทุกวันที่ 2 ของเดือนเป็นวันแห่งการนัดพบออนไลน์เพื่อเรียนรู้เรื่องสุขภาพร่วมกันทาง Facebook Live ว่า เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน ที่ทรงส่งเสริมสุขภาวะของปวงชนชาวไทยตลอดเวลาที่ผ่านมา
นอกจากนี้ที่มาของชื่อ “สถานีพยาบาล” ยังชวนให้นึกถึง “ไลฟ์สไตล์” ของ “คนเมืองรุ่นใหม่” ที่นิยมใช้ “รถไฟฟ้า” ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดรักษ์โลก จึงพร้อมมอบ “หัวใจสีขาวสะอาด” จากมหาวิทยาลัยมหิดล โดย โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และพันธมิตร ผลิตสื่อเพื่อสุขภาพของปวงชนชาวไทยที่รักทุกคนเช่นเดียวกัน
“ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานด้านการผลิตสื่อสุขภาวะของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เมื่อเอ่ยชื่อแล้วมั่นใจว่าจะได้ “รอยยิ้ม” จากจำนวนผู้ชมที่เฝ้าติดตามกันอย่างล้นหลามผ่าน “Mahidol Channel” และ “Rama Channel” ที่ผ่านมา โดยเชื่อมั่นว่าจะนำพาไปสู่หัวข้อสนทนาเรื่องสุขภาวะที่มีมากมายไม่รู้เบื่อ
“จากการสอดแทรกการสาธิต พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ซักถาม realtime ได้เลยในการไขปัญหาเรื่องสุขภาพทั่วไป ดังตัวอย่างเช่น “การทำแผล” ที่ใครๆ คิดว่าเป็นเรื่องง่าย แต่เมื่อถึงคราวจำเป็นฉุกเฉินอาจทำอะไรไม่ถูก หรือทำโดยขาดความรู้จนเกิดความเสียหายจากการติดเชื้อ” รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ กล่าว
จากความรู้พื้นฐานด้านสุขภาพที่จับต้องได้ ก้าวต่อไป “สถานีพยาบาล” พร้อมขยายผลเพื่อการเข้าถึง “ชุมชน” อย่างแท้จริง ผ่านการวางรากฐานความรู้เรื่องสุขภาพในกลุ่มเป้าหมายที่เป็น “เยาวชน”
โดยจะทำให้ช่วงเวลา “30 นาทีคุณภาพ” หลังมื้อเที่ยงของทุกวันที่ 2 ของเดือน และจะขยายผลการเผยแพร่สู่ช่วงวันอื่นๆ ของเดือนต่อไป เป็น “ช่วงเวลาที่รอคอย”
จากการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ทุกคนในโรงเรียนได้มาอยู่รวมกันหน้าจอทีวี พร้อมเก็บเกี่ยวแต้มสะสมความรู้เรื่องสุขภาพจาก “สถานีพยาบาล” สู่การเป็น “พลเมืองโลกสุขภาวะยั่งยืน” ตามเป้าหมาย SDG3 : Good Health & Well – being และเพื่อนำไปสู่การประเมินผลวิจัยร่วมพัฒนาศักยภาพทางสุขภาวะของเด็กไทย ที่จะเป็นต้นทุนสำคัญของประเทศให้พร้อมมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติอีก 16 ข้อให้ได้ต่อไปในอนาคต
2 เมษายน 2567 เวลา 12.30 – 13.00 น.พบกันที่ Facebook Live : สถานีพยาบาล
และติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th