ม.มหิดล พัฒนานวัตกรรมเพิ่มศักยภาพเทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวเตอร์ด้วยแม่เหล็กระดับโมเลกุล
จาก “QT1” (Quantum Technology Generation 1) ในยุคแรกเริ่มของการทำความรู้จักและใช้ประโยชน์จาก “เทคโนโลยีควอนตัมแห่งศตวรรษที่ 20” ได้ก่อกำเนิดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเกิดขึ้นมากมาย เช่นทรานซิสเตอร์ซึ่งเป็นองค์ประกอบในคอมพิวเตอร์ ทำให้การจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลเป็นไปได้
ปัจจุบันได้มีการเพิ่มสมรรถนะในการเข้าถึงและจัดการเทคโนโลยีควอนตัม สู่ยุค “QT2” (Quantum Technology Generation 2) แห่งศตวรรษที่ 21 ที่ก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในเชิงลึก และกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านคอมพิวเตอร์เชิงควอนตัมที่จะนำการปฏิวัติวงการเทคโนโลยึสารสนเทศ วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมมากมาย
โดยในประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของแผนที่นำทางการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมของชาติ ปี พ.ศ. 2563 – 2572
อาจารย์ ดร.เขตภากร ชาครเวท อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล จากการคว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประเภทรางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์
จากผลงานนวัตกรรมการพัฒนาโลหะทรานซิชันเป็นแม่เหล็กโมเลกุลเดี่ยวเพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดเก็บข้อมูลของฮาร์ดไดรฟ์ในคอมพิวเตอร์และการประมวลผลเชิงควอนตัม
จากงานวิจัยที่ต้องการย่อขนาดอนุภาคแม่เหล็กขนาดนาโนให้กลายเป็นแม่เหล็กขนาดโมเลกุล ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพในการจัดเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้เพิ่มมากขึ้นถึง 1,000 เท่า ทำให้เกิดการวิจัยศึกษาถึงวิธีการเพิ่มแรงกระทำทางแม่เหล็กภายในโมเลกุล ทำให้แม่เหล็กขนาดโมเลกุล ซึ่งโดยปกติจะต้องอาศัยอุณหภูมิต่ำถึง -270 องศาเซลเซียสสามารถรักษาสภาพแม่เหล็กที่อุณหภูมิสูงขึ้นได้
นอกจากนี้กระบวนการเปลี่ยนขั้วแม่เหล็กของโมเลกุลได้ถูกนำไปใช้เป็นหน่วยประมวลผลเชิงควอนตัม เพื่อสร้างควอนตัมคอมพิวเตอร์อันทรงพลัง
โดยเป็นผลงานวิจัยที่ทำเป็นวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อมาได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติทางเคมี อาทิ Journal of the American Chemical Society (JACS), Chemical Science และ Inorganic Chemistry เป็นต้น
การเข้าถึงเทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวเตอร์จะเพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทยอย่างก้าวกระโดด ทั้งต่อเทคโนโลยีระบบขนส่งโลจิสติกส์ การค้นหายาชนิดใหม่ การพัฒนาวัสดุอัจฉริยะ และการป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลดิจิทัล
มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล สร้างสรรค์และมอบองค์ความรู้เสริมพลัง “QT2” เพื่อเป็น “มรดกทางเทคโนโลยี” สู่รุ่นหลังต่อไป
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th