สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่นเปิดภารกิจ “สืบสาน” งานช่างศิลป์ไทยให้ยั่งยืน
การจะอนุรักษ์และส่งต่อภูมิปัญญาช่างท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่นได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการสืบสาน ต่อยอด ตามบริบทความแตกต่างของแต่ละพื้นที่
ตลอดระยะเวลา 3 ปีของสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น สังกัดสำนักบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ “ธัชชา” ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงมีการส่งเสริมให้นักวิจัยของสถาบันฯ ในทุกภูมิภาค ดำเนินโครงการอนุรักษ์ ส่งต่อและสืบสานภูมิปัญญาเชิงช่างสู่คนรุ่นใหม่
และเพื่อให้สังคมตระหนักและรู้ถึงคุณค่าของงานช่างศิลป์ท้องถิ่น สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่นจึงจัดงาน “ช่างศิลป์ถิ่นไทย สืบสานไว้ให้ยั่งยืน” ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 13-24 มี.ค.2567 เป็นเวทีนำเสนอผลงานฝีมือช่างไทย รวมถึงการสืบสาน อนุรักษ์ ต่อยอดมรดกของไทย ภายในงานได้รับเกียรติจากนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานเปิดงาน มี นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล อดีตปลัด อว. ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) และผู้ทรงคุณวุฒิอีกมากมายให้เกียรติเข้าร่วมงาน ณ ห้องนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
ดร.สิริกร มณีรินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น หัวเรือใหญ่ของการจัดงานในครั้งนี้ เล่าให้ฟังว่า การจัดงานมีการนำเสนอโครงการวิจัยของนักวิจัยท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ 2566 จากมหาวิทยาลัย และวิทยาลัยชุมชน 12 แห่ง อาทิ วิทยาลัยเพาะช่าง มทร.รัตนโกสินทร์ วชช.แพร่ วชช.ปัตตานี มรภ.เพชรบุรี เป็นต้น ได้นำผลผลิตจากงานวิจัยมาจัดแสดง อาทิ การศึกษาแม่ลายในงานศิลปกรรม 4 ภูมิภาค สืบสานงานช่างศิลป์ถิ่นเชียงใหม่ กาศึกษาลวดลายพื้นถิ่นสามจังหวัดชายแดนใต้ โครงการการออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยใช้ผ้าพื้นเมืองจังหวัดแพร่ สาธิตการแทงหยวกกล้วย เป็นต้น เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจภูมิปัญญาเชิงช่างของไทย แลกเปลี่ยนเรียนรู้การสืบสานภูมิปัญญาเชิงช่างสู่คนรุ่นใหม่
โครงการวิจัยของนักวิจัยท้องถิ่น มีส่วนสำคัญทำให้ครูช่างรุ่นเก่าได้ทำงานกับช่างรุ่นใหม่ ได้ส่งต่อภูมิปัญญา ทักษะจากรุ่นสู่รุ่น ส่วนอาจารย์มหาวิทยาลัยจะเติมเต็มในเรื่องรูปแบบ รูปทรงให้สอดคล้องกับวิธีชีวิตในปัจจุบัน โดยเป้าหมายของสถาบันฯคือ การเน้นไปที่การสืบสานที่ยั่งยืน ซึ่งหลายโรงเรียนที่ร่วมมือกับนักวิจัยของสถานบันฯ ได้ต่อยอดโครงการ โดยจะหาแนวทางบูรณาการลงในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาก็ได้ดำเนินการตามพันธกิจของสถาบัน ในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและงานวิจัยควบคู่กันไป
ด้าน รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ ประธานสาขาการจัดการศิลปวัฒนธรรม คณะวิจิตรศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้านักวิจัยโครงการสืบสานงานช่างศิลป์ ถิ่นเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้เข้าร่วมโครงการวิจัยนี้เป็นปีที่ 2 จากปีแรกที่เริ่มโครงการเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับช่างศิลป์ท้องถิ่น การสืบทอดส่งต่องานช่างศิลป์ลดลง และหายไปจากโรงเรียน จึงมีแนวคิดที่จะบูรณาการให้งานช่างศิลป์กลับสู่ชุมชน โดยต้องลงลึกถึงชุมชนและโรงเรียน ทำการศึกษาตามบริบทของพื้นที่ และคำนึงถึงความต้องการของแต่ละอำเภอ ทำให้เกิดการทำงานร่วมกับโรงเรียนและนักเรียน ซึ่งสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่นเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ จึงให้เริ่มเป็นโครงการสล่าน้อย หรือช่างน้อย โดยเชิญปราญช์ชาวบ้านร่วมสอน นำร่องใน 4 โรงเรียน ได้แก่โรงเรียนสันกำแพง โรงเรียนเชตุพนศึกษา (ในพระสังฆราชูปถัมภ์) โรงเรียนดอยเต่าวิทยาคม และโรงเรียนบ้านหัวริน (แสนวิชัยดำรงราษฎร์) ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ที่ถ่ายทอดให้กับเด็กๆ จะเรียกว่า “จินตหัตถปัญญา” เริ่มจากการเรียนรู้จากธรรมชาติ รู้จากตาที่เห็น รู้จากหูที่ฟัง การจินตนาการ และการลงมือทำ เมื่อเกิดการเรียนรู้แล้วจะเกิดความเข้าใจเข้าถึงคุณค่าของงานศิลปหัตถกรรมและนำไปสู่การพัฒนาสร้างผลงานต่อไป คาดว่าโครงการนี้จะเพิ่มจำนวนสล่าจากจุดเล็กๆขึ้นมาได้ และช่วยสืบสานงานช่างศิลป์ไทยให้ยั่งยืน
ตัวแทนจากโรงเรียนสันกำแพง นายศรัทธาทิพย์ ถมมา ร่วมแชร์ประสบการณ์ว่า โครงการสล่าน้อยเข้ามาในโรงเรียน ทำให้นักเรียนเกิดความสนใจงานศิลปหัตถกรรมเพิ่มมากขึ้น ช่วยยกระดับงานโลหะศิลป์ให้มีมูลค่ามากยิ่งขึ้น แต่เดิมจะพบเห็นได้จากดอกไม้ไหว หรือดอกไม้ประดิษฐ์จากแผ่นทองเหลืองที่ช่างฟ้อนนำมาประดับเป็นปิ่นปักผม แต่เมื่อมีโครงการนี้ นักเรียนสามารถต่อยอดงานหัตถกรรมให้ออกมาเป็นพานพุ่ม เข็มกลัด ตุ้งกระด้าง มีการประยุกต์รูปแบบงานให้ทันสมัยเกิดการใช้งานที่หลากหลาย ที่ผ่านมางานหัตถศิลป์ถูกหลงลืม หรือขาดการสอบทอกจากคนรุ่นใหม่ เนื่องจากเด็กมักมีคำถามว่าทำแล้วได้อะไร ดังนั้นการแก้ไขปัญหานี้ ควรมีการใช้ช่องทางสื่อออนไลน์ เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจว่างานเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับสิ่งเดิมๆ สามารถนำศิลปะเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดผลงานชิ้นใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นการจุดประกายความคิดและดึงเด็กกลับเข้าสู่ศิลปหัตถกรรมของไทยได้
ในขณะที่ ผู้จัดการกลุ่มร่องลายไทย นายอวบ มารักษ์ มองว่า การที่กลุ่มร่องลายไทยเปิดศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นสงขลา เนื่องจากเล็งเห็นว่างานช่างศิลป์จะสูญหาย และต้องการให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ โดยเฉพาะงานแทงหยวกกล้วย ซึ่งเป็นงานที่มีความยากในชิ้นงานและมีความเข้าใจที่คาดเคลื่อนว่าใช้สำหรับงานศพเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วงานแทงหยวกกล้วยสามารถนำไปใช้ในงานมงคลและงานพิธีต่างๆ ได้ ซึ่งการจะให้งานหัตถกรรมเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้นต้องมีการปรับให้เข้ากับวิถีชีวิต การสอนจะต้องให้เด็กสนใจไม่จำกัดที่จะต้องแทงเป็นลายไทยเท่านนั้น แต่เปิดโอกาสให้เด็กที่เข้ามาในศูนย์เรียนรู้สามารถแทงเป็นลวดลายที่สนใจแต่ใช้เทคนิคการแทงหยวกเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในนำไปใช้ได้จริง
ปิดท้ายที่ นายธนิต พุ่มไสว เจ้าของร้านภูษาผ้าลายอย่าง ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการถอดลายภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังจนเป็นที่มาของผ้าลายอย่าง เล่าว่า การพัฒนาให้งานช่างศิลป์เกิดความยั่งยืนนั้น จะต้องเริ่มที่บุคลากรในโรงเรียน ควรมีความรู้เฉพาะด้านที่มากพอจะถ่ายทอดองค์ความรู้ที่แท้จริงให้กับนักเรียน ความรู้ที่คลาดเคลื่อนจะส่งผลเสียต่อผู้เรียนทำให้มาตรฐานการเรียนรู้ต่างๆ ลดลง ส่งผลเสียต่อเด็กที่ไม่สามารถแข่งขันได้ ดังนั้นการจะแก้ไขปัญหานี้ต้องเริ่มจากการสร้างการเรียนรู้ใหม่จริงจังกับการศึกษาทั้งในและนอกโรงเรียนให้มากขึ้น นอกจากนี้การจะเข้าถึงคนรุ่นใหม่ การนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ต่างๆ จะต้องปรับให้สอดรับกับสื่อที่เขาสนใจ เป็นการสร้างจุดเริ่มต้นและการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ดี เมื่อเกิดความสนใจจะเกิดการค้นหาและสืบสานต่อไป