นวัตกรรมเพื่อยกระดับความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ ให้กับแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้สูงอายุสำรองและสูงอายุ ผลงานวิจัยระดับดี สาขาสังคมวิทยาจาก วช.

นวัตกรรมเพื่อยกระดับความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ ให้กับแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้สูงอายุสำรองและสูงอายุ ผลงานวิจัยระดับดี สาขาสังคมวิทยาจาก วช.

“นวัตกรรมเพื่อยกระดับความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ให้กับแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้สูงอายุสำรองและสูงอายุโดยการส่งเสริมเศรษฐกิจสมานฉันท์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล” ผลงานของ รศ.ดร.รัตติยา ภูละออ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการวิจัยร่วมกับสถาบันเอเชียศึกษา และคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับดี (สาขาสังคมวิทยา) ประจำปี 2567 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นผลงานวิจัยที่มีความโดดเด่นเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุในปัจจุบันและผู้ที่กำลังเข้าสู่วัยสูงอายุที่ทำงานนอกระบบให้สามารถใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในการหารายได้เพิ่มเติมสำหรับที่ยังต้องการทำงานและหารายได้

รศ.ดร.รัตติยาเผยถึงวัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ว่า เพื่อวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาทักษะความเข้าใจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับผู้สูงอายุสำรองและผู้สูงอายุ รวมถึงการสร้างนวัตกรรมส่งเสริมการเข้าถึงแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเน้นการมีส่วนร่วมและเสริมสร้างเศรษฐกิจสมานฉันท์ ตลอดจนวิเคราะห์ข้อเสนอแนะแนวทางและนโยบายที่สามารถส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล

กระบวนการทำงานวิจัยเป็นการวิเคราะห์และสังเคราะห์สภาพปัจจุบัน ทบทวนสถานการณ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องจากการสำรวจเอกสาร แล้วจึงใช้วิธีการวิจัยแบบผสมเชิงคู่ขนาน โดยการวิเคราะห์เชิงปริมาณกับผู้สูงอายุสำรองและผู้สูงอายุจำนวน 1,605 คน ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดปัดตานี และการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์และจัดระดมความเห็น จากนั้นนำมาออกแบบ สร้าง ประเมิน และทำการทดลองใช้นวัตกรรมต้นแบบ ตามผลการวิเคราะห์เชิงปริมาณและคุณภาพแล้วจึงปรับปรุงนวัตกรรมระหว่างการใช้งาน สุดท้ายจึงทำการวิเคราะห์ข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล และสังเคราะห์แนวทางต่อยอดการนำไปใช้ทั้งเชิงวิชาการ และเชิงการสร้างความเข้มแข็งเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสมานฉันท์ต่อไป

จุดเด่นของงานวิจัยที่ทำให้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับดี

งานวิจัยนี้สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์แนวทางส่งเสริมอาชีพและรายได้ โดยเน้นไปที่กลุ่มแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้สูงอายุสำรองและผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยเสริมแนวทางการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลของผู้สูงอายุให้เกิดความเป็นธรรม งานวิจัยนี้สามารถสร้างนวัตกรรมทำให้เกิดดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ได้นำไปทดลองใช้เบื้องต้นในบางชุมชนแล้วพบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะช่วยทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นได้จริง นอกจากนี้ผลการวิจัยยังให้ข้อเสนอแนะทางนโยบายขององค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการทำงานหรือเพิ่มโอกาสการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุและผู้สูงอายุสำรองผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล

ประโยชน์ของงานวิจัยและการตอบโจทย์สังคม

รศ.ดร.รัตติยา กล่าวว่า งานวิจัยนี้สามารถสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาแนวทางสร้างความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับผู้สูงอายุสำรองและผู้สูงอายุ สร้างนวัตกรรมที่ส่งเสริมการเข้าถึงแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเน้นการมีส่วนร่วมและเสริมสร้างเศรษฐกิจสมานฉันท์ ทั้งนี้ยังสามารถนำเอาโมเดลการบริหารนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเน้นการมีส่วนร่วมและเสริมสร้างเศรษฐกิจสมานฉันท์ไปขยายผลและประยุกต์ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ได้ นอกจากนี้งานวิจัยยังให้ข้อเสนอแนะทางนโยบายเพื่อส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุและผู้สูงอายุสำรองผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล

ผลงานวิจัยนี้ตอบโจทย์สังคมในหลากหลายด้าน ดังนี้

     – ช่วยลดช่องว่างระหว่างผู้ที่สามารถเข้าถึง เข้าใจ และรู้วิธีใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในกลุ่มผู้สูงอายุสำรองและผู้สูงอายุ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในการรับรู้ต่อผู้สูงอายุให้ได้รับการยอมรับและมีส่วนร่วมมากขึ้น นำไปสู่การสร้างความเข้าใจระหว่างรุ่นมากขึ้น

    – ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้นภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสมานฉันท์ และส่งเสริมความยั่งยืนและการเติบโตทางเศรษฐกิจจากชุมชน ส่งเสริมให้มีช่องทางในการหารายได้ในกลุ่มผู้สูงอายุให้มีช่องทางในการเปลี่ยนมาทำงานหรือธุรกิจบนดิจิทัลมากขึ้น ส่งผลให้การพึ่งพาทางการเงินลดลง

   – คุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุดีขึ้น เนื่องจากการมีส่วนร่วมทางสังคมและเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่ผลประโยชน์ทางสังคม เช่น ค่ารักษาพยาบาลที่ลดลง ชีวิตในชุมชนที่มีชีวิตชีวามากขึ้น ระดับความสุขและความพึงพอใจโดยรวมที่สูงขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ และส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ผู้สูงอายุมีความโดดเดี่ยวน้อยลง และมีช่องทางหารายได้มากขึ้น

“งานวิจัยนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย รวมทั้งหน่วยงานชุมชน และภาคประชาสังคม และที่สำคัญคือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการดำเนินนโยบายส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขและรายได้ของประชาชนในภาพรวม” รศ.ดร.รัตติยา กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ