วันเชิดชูเกียรตินักวิจัย มธ.มอบรางวัลนักวิจัย ดีเด่นปี 2566

วันเชิดชูเกียรตินักวิจัย มธ.มอบรางวัลนักวิจัย ดีเด่นปี 2566

ปทุมธานี – ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) จัดงาน “วันเชิดชูเกียรตินักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2566” เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติคุณของนักวิจัยผู้สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัย 9 ประเภทรางวัล แก่นักวิจัยจำนวน 90 ราย

โดยภายในงานรองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงก้าวต่อไปของงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าจะเชื่อมั่นและสานต่อแนวทางด้านความยั่งยืน หรือ “Sustainability” ต่อไป “ดิฉันในฐานะตัวแทนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พร้อมที่จะสนับสนุนนักวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยกระดับขีดความสามารถของงานวิจัย ควบคู่กับการสร้างสมดุลและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อคนรุ่นหลังต่อไป” รองศาสตราจารย์เกศินีกล่าว

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ทันตแพทย์หญิงศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงภาพรวมของงานในปีนี้ว่า “ในปี 2566 ที่ผ่านมามีบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่ได้รับรางวัลด้านการวิจัยและนวัตกรรมทั้งจากหน่วยงานภายใน หน่วยงานภายนอกระดับชาติและระดับนานาชาติเป็นจำนวนมาก มหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดงาน ‘วันเชิดชูเกียรตินักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2566’ ขึ้น เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติบุคลากรทางการวิจัยของมหาวิทยาลัย ที่ได้มุ่งมั่นผลิตผลงานวิชาการและงานวิจัยออกสู่สาธารชนอย่างต่อเนื่อง สร้างบรรยากาศทางวิชาการด้านวิจัยให้นักวิชาการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการทำวิจัย อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยดังกล่าว แก่ประชาคมธรรมศาสตร์ให้รับทราบและชื่นชมในผลงานที่ได้รับรางวัลของบุคลากรด้านการวิจัย” 

ในขณะที่ รศ.วิทยา ด่านธำรงกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU RAC) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า  “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาที่ให้ความสำคัญด้านวิชาการ งานวิจัย งานสร้างสรรค์ รวมถึงสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยประมาณ 500 คนจาก 20 กว่าวิทยาลัย ในทุก ๆ ศาสตร์  ผลงานวิจัยของทุกคนที่ได้รับรางวัลถือเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จของธรรมศาสตร์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคม (Social Impact) อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้สังคมมองเห็นทิศทางการพัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ดังนั้น เราจึงจึงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมสร้างงานวิจัย และนวัตกรรมต่อไป ซึ่งตลอดปีที่ผ่าน คณะกรรมการได้เลือกเฟ้นผลงานจากนักวิจัยคุณภาพทั้งจากนักวิจัยรุ่นเก่าและนักวิจัยรุ่นใหม่มากมาย”

ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์ก้องเกียรติ กูณฑ์กันทรากร อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และราชบัณฑิต  กล่าวว่า “หน้าที่ของโรงพยาบาลคือการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุด ดังนั้นบุคคลากรของเราจำต้องเผชิญปัญหาต่างๆที่ต้องหาทางแก้ไข นั่นคือจุดเริ่มต้นของงานวิจัยที่แต่ละคนคิดค้นหาวิธีที่จะอำนวยความสะดวกให้คนไข้ อาทิ แปรงสีฟันชนิดพิเศษที่สามารถแปรงฟัน ดูดเสมหะได้ หรือ การใส่เข่าเทียม ซึ่งเรารวบรวมตั้งเป็นศูนย์สตาร์ทอัพของโรงพยาบาล เน้นการดูแลผู้ป่วยให้ได้มาตรฐานมีงานวิจัย มีนวัตกรรม เมื่อมากเข้าในที่สุดก็จะเป็นศูนย์ความเป็นเลิศในโรคต่างๆ ซึ่งตอนนี้มีแล้วเช่น โรคหลอดเลือด หัวใจ เบาหวาน  เข่าเสื่อม งานวิจัยเหล่านี้เราสามารถช่วยเหลือคนไข้ได้จริง ทำให้คุณภาพชีวิตของเขาและผู้ดูแลดีขึ้น ปัญหาบางอย่างต้องอาศัยงานวิจัยและผู้ร่วมผลักดันทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ก้องเกียรติ ยังกล่าวถึงผลงานวิจัยหลากหลายที่ทำให้ได้รับโปรดเกล้าเป็นราชบัณฑิตมื่อปีที่ผ่านมาว่า จริง ๆ แล้วต้องผ่านเกณฑ์มากมาย ตนเองเป็นทั้งนักวิชาการ นักวิจัย เป็นแพทย์ต้องดูแลคนไข้ และสอนหนังสือไปด้วยตรงนี้เป็น Portfolio ที่น่าจะทำให้ผ่านการพิจารณา ภารกิจของราชบัณฑิต คือให้คำปรึกษา แต่ด้วยความที่สังคมเปลี่ยนไปการหาข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น  บทบาทของราชบัณฑิตก็ต้องปรับตามเข้มข้นขึ้น นักวิจัยรุ่นใหม่สามารถหาสิ่งที่สนใจศึกษาค้นคว้าค่อยๆ เก็บเป็น Portfolio ของตัวเองและค่อย ๆ หาเครือข่ายที่สนใจเหมือนกันมาช่วยกันคิดจะได้ขยายองค์ความรู้ตรงจะเพิ่มโอกาสและทำให้เติบโตขึ้น

สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลในงาน “วันเชิดชูเกียรตินักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2566” แบ่งออกเป็น 9 ประเภทรางวัล จากนักวิจัยจำนวน 90 ราย ประกอบด้วย

  1. ผู้ได้รับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เย็นศิลปวิทยา จำนวน 1 รางวัล
  2. ผู้ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิต จำนวน 1 รางวัล
  3. ผู้ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ จำนวน 17 รางวัล
  4. ผู้ได้รับโล่รางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐธิราชจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

    ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น เมธีวิจัยอาวุโส และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 1 รางวัล

  1. ผู้ได้รับการกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์ ได้รับเงินเดือนขั้นสูง จำนวน 1 รางวัล
  2. ผู้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น จำนวน 8 รางวัล
  3. ผู้ได้รับทุนวิจัยโครงการขนาดใหญ่ผ่านสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) และส่วน

   งานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 15 รางวัล

  1. ผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่นระดับส่วนงาน จำนวน 12 รางวัล
  2. ผู้ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณทางด้านการวิจัยจากหน่วยงานภายนอก จำนวน 34 รางวัล

ทั้งนี้ ความพิเศษของงานในปีนี้คือการนำแนวคิดเรื่อง “ความยั่งยืน” มาประยุกต์ใช้เข้ากับการจัดงาน โดยจำลองตึกโดมซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นอาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของมหาวิทยาลัยอันเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไป หลังจากมีการรื้อถอนเพื่อบูรณะซ่อมแซม ชิ้นไม้ที่ในอดีตเคยเป็นส่วนหลังคาของตึกโดมแห่งมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ได้ถูกนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง โดยนำมาเป็นส่วนหนึ่งของโล่เกียรติยศเพื่อมอบให้แก่เหล่านักวิจัย

สำหรับบรรยากาศภายในงานปีนี้มีผู้เข้าร่วมแสดงความยินดีกับเหล่านักวิจัยมากมาย อาทิ  รองศาสตราจารย์เกศินี  วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์วิทยา ด่านธำรงกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU RAC) รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ อุดร  รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศาสตราจารย์ ดร.ทันตแพทย์หญิงศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ