“มทร.ล้านนา” รวมพลังแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 พื้นที่ภาคเหนือ รุกพัฒนานวัตกรรม สร้างปอดในมหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)ล้านนา กล่าวว่า ในทุก ๆ ปีประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงทางภาคเหนือต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันที่มีค่าฝุ่นละอองในอากาศหนาแน่น และมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สูงเกินมาตรฐานปกคลุมพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และ 12 สถาบันอุดมศึกษาได้รวมกลุ่มกัน เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาค่าฝุ่น ปัญหาหมอกควัน-ไฟป่า ฝุ่น PM 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในส่วนของ มทร.ล้านนานั้น ได้รับผิดชอบใน 2 ส่วนสำคัญ คือ 1.การเป็นศูนย์ปฎิบัติการสอบเทียบเครื่องวัดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นศูนย์แห่งเดียวของประเทศไทย ได้รับงบประมาณจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS โดยหน่วยวิจัยสนามไฟฟ้าประยุกต์ในงานวิศวกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ ได้มีการพัฒนาเครื่องทดสอบตัวกรองอัตโนมัติที่ได้มาตรฐาน มอก. 2424-2562 และ มอก. 2480-2562 เช่น บริษัทที่ต้องการทำหน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่น PM2.5 หรือเครื่องฟอกอากาศให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนดก็สามารถมาทดสอบ และทางศูนย์จะมีการออกใบรับรองให้แก่บริษัท หรืออุตสาหกรรมนั้นๆ
รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา กล่าวอีกว่า 2. มทร.ล้านนา ได้พัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะช่วยแก้ปัญหาและป้องกันฝุ่น PM2.5 เช่น พัฒนา “Smoke Watch : แอปพลิเคชันแจ้งเตือนและเฝ้าระวังไฟป่า จากการเผาในที่โล่ง ร่วมกับทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อบริหารจัดการข้อมูลการแจ้งเหตุเผาไฟป่า และเข้าระงับเหตุได้ตรงจุดอย่างรวดเร็ว ซึ่งเริ่มแรกได้มีการติดตั้งบริเวณ จ.เชียงราย และขณะนี้ได้มีการนำมาติดตั้งบริเวณ จ.เชียงใหม่ร่วมด้วย หรือการพัฒนาระบบเซนเซอร์ เตือนภัยจุดที่มีความร้อน ทำให้สามารถรู้พิกัดจุดเกิดไฟป่า รวมถึงลดปริมาณการเข้าไปในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ร่วมด้วย เป็นต้น
“มทร.ล้านนา ได้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่นPM 2.5 ทั้งในระดับจังหวัด และภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งในมหาวิทยาลัยได้มีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในห้องเรียน มีการจัดทำห้องปลอดฝุ่น RMUTL Safe Zone ด้วยการนำเทคโนโลยีสนามไฟฟ้าในการดักจับฝุ่นที่มีอนุภาคขนาดเล็ก (PM 2.5) การปลูกต้นไม้สีเขียวมากขึ้น มีระบบแจ้งเตือนเมื่อค่าฝุ่นPM2.5 เกินมาตรฐาน มีการรณรงค์ให้นักศึกษาได้เข้ามีส่วนร่วมในการลดกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดฝุ่นPM2.5 และหากค่าฝุ่น PM 2.5 สูงระดับสีแดงก็จะให้ทั้งนักศึกษาและบุคลากร เรียน-สอนออนไลน์ ทำงานที่บ้าน รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม สร้างปอดของมหาวิทยาลัย พื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์แก่นักศึกษาและบุคลากรในหลาย ๆ จุด ดังนั้น นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยจะได้รับการดูแลด้านสุขภาพ อยู่ในมหาวิทยาลัยที่ปลอดฝุ่น PM2.5” ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ กล่าว
ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ มทร.ล้านนา 6 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตเชียงราย วิทยาเขตตาก วิทยาเขตน่าน วิทยาเขตพิษณุโลก วิทยาเขตภาคพายัพ เชียงใหม่ วิทยาเขตลำปาง ทุกแห่งจัดทำแผนในการลดปัญหาฝุ่น PM2.5 และดูแลนักศึกษา บุคลากร และประชาชนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งนอกจากจะมีนวัตกรรมต่างๆ แล้ว ยังมีแนวทางในการสร้างความตระหนักให้แก่ชาวบ้าน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ว่าจะเป็น การให้ความรู้เรื่องการเผาป่า ไฟป่า หรือการระดมฉีดล้างทำความสะอาดผิวถนนและทางเท้าภายในมหาวิทยาลัย เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ หนึ่งในสาเหตุของการเกิดฝุ่น PM2.5 เป็นต้น