ม.วลัยลักษณ์ ประชุมนานาชาติด้านวิศวกรรมไม้ นักวิจัยจาก 4 ชาติร่วม
ม.วลัยลักษณ์ร่วมกับ3ม.ดังในต่างประเทศ จัดประชุมวิชาการนานาชาติ “International Timber Engineering Education and Research Symposium” แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านการศึกษาและวิจัยการใช้ประโยชน์จากไม้ โดยมีนักวิจัยจากประเทศแคนาดา เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์และไทยเข้าร่วม
ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีม.วลัยลักษณ์ (มวล.)เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ มวล.โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพและสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ประเทศเกาหลีใต้ และมหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรี่ ประเทศนิวซีแลนด์ จัดประชุมวิชาการนานาชาติภายใต้หัวข้อ “International Timber Engineering Education and Research Symposium” เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านการศึกษาและวิจัยการใช้ประโยชน์จากไม้ในงานโครงสร้างอาคารสมัยใหม่ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในต่างประเทศ สอดรับกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ณ ห้องประชุมภัทรธรรมาภรณ์ ชั้น 9 อาคาร B โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มวล.
ศ.ดร.สมบัติ กล่าวต่อไปอีกว่า มวล.ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและพัฒนามหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ และมุ่งมั่นส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการก่อสร้าง สนับสนุนการใช้วัสดุไม้ในการก่อสร้างจึงเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับความตั้งใจของมหาวิทยาลัยในการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว ซึ่งล่าสุดมวล.ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 1 มหาวิทยาลัยสีเขียวของภาคใต้ ติดต่อกัน 4 ปีซ้อน จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก เมื่อปี 2023 โดย UI GreenMetric World University Rankings โดยงานประชุมวิชาการในครั้งนี้นอกจากจะเป็นเวทีที่สร้างชื่อเสียงในระดับโลกในด้านการวิจัยเชิงนวัตกรรมให้กับมหาวิทยาลัยแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสร้างเครือข่ายการวิจัยระดับนานาชาติและเป็นเวทีในการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้กับทั่วโลกอีกด้วย
ด้าน รศ.ดร.สุธน ศรีวะโร อาจารย์ประจำหลักสูตรปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีในฐานะหัวหน้าโครงการประชุมฯ กล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาติในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านการศึกษาและวิจัยด้านวิศวกรรมไม้ ทั้งในประเทศแคนาดา เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ที่วัสดุไม้ประสบความสำเร็จในการเจาะตลาดการก่อสร้างอาคารระดับกลางถึงสูง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักยภาพของพันธุ์ไม้ที่มีอยู่ในประเทศไทยและในประเทศเขตร้อน ซึ่ง ม.วลัยลักษณ์ ได้ทำการวิจัยอย่างจริงจังในเรื่องนี้และหวังว่าจะช่วยสร้างความตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการศึกษาและการวิจัยด้านวิศวกรรมไม้ในประเทศไทย และเป็นการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรไม้ที่มีอยู่ให้มากขึ้น นำไปสู่ความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ ภาคอุตสาหกรรม และรัฐบาล และช่วยให้อุตสาหกรรมไม้ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก สามารถเข้าถึงอุตสาหกรรมการก่อสร้างได้มากขึ้น ส่งผลดีต่อประเทศทั้งในด้านวิชาการ เศรษฐกิจ และสังคมต่อไป