คณะการท่องเที่ยวฯ DPU ร่วมเทศกาล BKKDW 2024 ชูเส้นทางเดินเที่ยวย้อนรอยวันวานย่านสุดคูลกับทริป “ทรงวาด…ที่วาดไว้ในความทรงจำ”
คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมงานเทศกาล Bangkok Design Week 2024 (BKKDW2024) จัดกิจกรรมนำชมถนนทรงวาด ในธีม “ทรงวาด…ที่วาดไว้ในความทรงจำ” โดยร่วมเดินทางท่องเที่ยวไปกับ ดร.ยุวรี โชคสวนทรัพย์ หรือ อาจารย์นวล ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เมือง และอดีตชาวถนนทรงวาด ซึ่งจะเป็นผู้นำย้อนเวลาสู่ถนนทรงวาดในวันวาน ไม่ว่าจะเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวของคุณแม่ โรงขายไข่ ร้านรวงในวันวานและภาพจำประทับใจต่าง ๆ เมื่อวัยเยาว์
“เราอยากให้คนรู้ว่า ถนนทรงวาด…เป็นมากกว่าจุดเช็คอินใหม่ แต่ตรงนี้เป็นบ้าน เป็นที่ทำมาหากิน เป็นจุดรวมศรัทธา…เป็นพื้นที่แห่งชีวิตและความทรงจำของใครหลายคน”
จากคำกล่าวข้างต้น จึงเป็นที่มาของเส้นทางเดินเที่ยว (Walking Tour) ภายใต้ ธีม “ทรงวาด…ที่วาดไว้ในความทรงจำ” Songwad..Walking the Memories โดย ดร.ยุวรี โชคสวนทรัพย์ หรือ อาจารย์นวล ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เมืองและหัวหน้าทีมการตลาดและประชาสัมพันธ์ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เล่าถึงที่มาของเส้นทางทัวร์ครั้งนี้ ว่า กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาล Bangkok Design Week 2024 แรกเริ่มก่อนเข้าร่วมกับเทศกาลดังกล่าวอาจารย์ภควดี วรรณพฤกษ์ (ปีย์) อาจารย์ประจำหลักสูตรของคณะฯ ได้มาเล่าให้ฟังว่า อยากทำทริปเที่ยว ถ.ทรงวาด ให้ฉีกแนวกว่าทริปของทัวร์อื่น ซึ่งได้โปรโมทจุดเช็คอิน ที่วิวสวย สถานที่สำคัญ หรือ ร้านน่านั่ง ไปหมดแล้ว โดยอยากทำทริปให้น่าจดจำมากกว่านั้น เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายไปที่คนรุ่นใหม่มากขึ้น และส่วนตัวอาจารย์นวลก็เป็นเด็กทรงวาดมาก่อน เกิดและโตที่นี่ จึงมองว่าโครงการนี้เป็นโอกาสดีที่จะได้กลับไปสถานที่แห่งความทรงจำในวัยเด็กอีกครั้ง จึงร่วมกับอาจารย์ปีย์เสนอเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 ม.ค.-4 ก.พ.67 ภายใต้ธีม “Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี” เพราะมองว่า Walking Tour นี้จะทำให้คนรู้จักถนนทรงวาดมากขึ้น
นอกจากนี้ ทางคณะฯ ยังได้เชิญ อาจารย์กิรติ ศรีสุชาติ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ DPU เข้ามาร่วมออกแบบตราปั๊มและโลโก้ของโครงการฯ รวมถึงเป็นผู้สอนนักศึกษาของคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรมในการนำผลงานภาพถ่ายฝีมือนักศึกษา มาทำเป็นโปสเตอร์ของที่ระลึกให้กับผู้ร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งการถ่ายภาพและออกแบบส่วนหนึ่งมาจากผลงานของนักศึกคณะการท่องเที่ยวฯ ถือเป็น Art activity อย่างหนึ่งที่ได้ร่วมกันทำ โดย อ.กิรติ สะท้อนให้ฟังว่าการได้ทำโครงการฯร่วมกับคณะการท่องเที่ยวฯทำให้รู้จัก ถ.ทรงวาดมากขึ้น และเพิ่งทราบว่าย่านนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นย่านฮิตติดอันดับ 1 ใน 40 ย่านที่คูลที่สุดจากทั่วโลก และติดอันดับ 1 ของกรุงเทพฯ โดยผ่านการจัดอันดับจากสื่ออันดับโลกด้านไลฟ์สไตล์อย่าง Time Out ในปี 2023 ทำให้นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศสนใจมาแฮงเอาท์และอยากมา Chic City ชมความเก่าแก่และเสน่ห์ของตึกในย่านนี้
สำหรับ Walking Tour นี้ จัดขึ้น 2 รอบ คือ วันที่ 28 ม.ค. 2567 และ 3 ก.พ. 2567 เริ่มตั้งแต่เวลา 9.30 – 12.30 น. โดยใช้เวลาเดินทางในการท่องเที่ยวทั้งหมด 3 ชม.
อาจารย์นวล ได้เล่าความเป็นมาของ ถนนทรงวาด ว่า ย้อนกลับไปช่วงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น รัชกาลที่ 1 ทรงย้ายฝั่งจากธนบุรีมาอยู่พระนคร แล้วโปรดให้สร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นตรงบริเวณที่อยู่เดิมของกลุ่มชาวจีน จึงได้โปรดเกล้าให้ชาวจีนและชาวต่างชาติในบริเวณนั้นย้ายออก โดยจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้ตรงสามแพร่ง บริเวณถนนเยาวราช ซึ่งสำเนียงเรียกภาษาไทยที่ไม่ชัดเจนของชาวจีน ทำให้ชื่อสามแพร่ง ได้เพี้ยนเสียงเป็นสำเพ็ง จนมาถึงปัจจุบัน ส่วนถนนทรงวาด บริเวณดั้งเดิมไม่มีถนนเป็นเพียงพื้นที่ติดแม่น้ำมีบ้านเรือนอยู่หนาแน่น เมื่อพ.ศ. 2449 เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในสำเพ็ง บ้านเรือนสมัยนั้นเป็นไม้ติดๆกันทำให้เพลิงไหม้ได้ง่าย
จากเหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงจัดระเบียบที่อยู่อาศัยใหม่ โดยทรงกางแผนที่แล้ววาดถนนขึ้นใหม่ให้ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วให้คนจีนขยายออกมาอยู่ตรงนี้ จึงเรียก ถนนทรงวาด และภายหลังมีถนนทรงวาดมาแล้ว รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศ ในการสร้างบ้านเรือนห้ามสร้างโรงเรือนด้วยไม้ขัดแตะ ดังนั้นบ้านเรือนในถนนทรงวาด จึงเป็นลักษณะห้องแถวที่สร้างด้วยปูนแบบบ้านร้านค้า (Shophouse) สันนิษฐานว่า อาคารลักษณะดังกล่าวที่เป็นตึกทรงฝรั่ง เช่น ตึกผลไม้ มีความใกล้เคียงกับตึกในเมืองปีนังและสิงคโปร์ น่าจะเป็นการรับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมบริเวณนิคมช่องแคบ (Straits Style) ซึ่งเป็นความนิยมในยุคนั้น
อาจารย์นวล เล่าให้ฟังอีกว่า สิ่งที่ยังเหมือนเดิมในปัจจุบันมีเพียงตึกเท่านั้น เมื่อก่อนถนนเส้นนี้เป็นจุดลงสินค้าทางเรือ เป็นจุดกระจายสินค้า มีรถสิบล้อเข้า-ออก เพื่อมารับสินค้านำไปจำหน่ายที่อื่น พื้นที่แห่งนี้เป็นเสมือน คลังสินค้าขายส่ง (Warehouse) ตอนเด็กจำได้ว่าพ่อทำงานที่ บ.เกษตรรุ่งเรืองพืชผล ส่วนแม่ขายก๋วยเตี๋ยวอยู่ซอยเยื้องๆตรงข้ามบ้านพัก สมัยนั้นบ้านของบริษัทจะอยู่ตรงริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีโป๊ะหันหน้าออกไปทางแม่น้ำ มีห้องน้ำรวมอยู่ 2 ห้อง ทุกครอบครัวต้องตกลงกันว่าใครจะอาบน้ำก่อนหลัง ครอบครัวของเราต้องอาบน้ำท้ายสุด เพราะกว่าแม่จะขายก๋วยเตี๋ยวเสร็จกว่าจะเก็บล้างก็มืดแล้ว พอ บ.เกษตรรุ่งเรืองพืชผล ไม่ได้สัมปทานต่อทุกคนต้องย้ายออกไปจากบ้านพักดังกล่าว และบ้านพักคนงานแห่งนี้ปัจจุบันกลายเป็นที่ตั้งของร้านน้ำชาภายใต้ชื่อ Bllue Mandarin
เส้นทางเดินทัวร์เริ่มด้วยการเดินชมตึกเก่าโดยเริ่มจากตึกแขกที่อยู่ปากซอย ต่อด้วยร้านค้าดั้งเดิมอย่างร้านขายภาชนะเคลือบตรากระต่ายและตึกผลไม้ ซึ่งเป็นจุดเช็คอินสุดฮิตของคนชอบกินเนื้อ เพราะมีร้านก๋วยเตี๋ยวภายใต้ชื่อว่า “โรงกลั่นเนื้อ” ทุกจุดที่ผ่านอาจารย์นวลจะบรรยายให้ฟังถึงความเป็นมาและการเปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังจะได้เห็นภาพงานศิลปะจากเทศกาล BKKDW 2024 ตามจุดเช็คอินต่าง ๆ อีกด้วย จากนั้นเดินชมตรอกโรงโคม ชมตึกเก่าเรื่อยมาจนถึงศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง หลังไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เสร็จ ต่อด้วยการเยี่ยมชมโรงเรียนเผยอิง ซึ่งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากท่าน ดร.นงลักษณ์ เดชดำเกิงชัย ผอ.โรงเรียน ซึ่งได้เล่าประวัติของโรงเรียนสอนภาษาจีนอายุกว่า 104 ปีแห่งนี้ให้ฟังว่า
ก่อตั้งขึ้นโดยเจ้าสัวจีน 5 คนที่เข้ามาค้าขายจนประสบความสำเร็จในกรุงสยาม มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้การศึกษากับลูกหลานรวมถึงปลูกฝังประเพณีดั้งเดิมของชาวจีน จึงระดมทุนร่วมกันในพ.ศ. 2459 (สมัยร.6) รวมเงินกันได้จำนวน 3 แสนบาท นำมาสร้างโรงเรียนใน พ.ศ.2463 โดยใช้สถาปัตยกรรมอิตาเลียนผสมกับจีน ออกแบบสร้างอาคาร 3 ชั้นขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเน้นโถงทางเข้าตรงกลางด้านในมีพื้นที่เปิดโล่งสไตล์โคโลเนียลที่พบเห็นได้ในฝั่งยุโรป โรงเรียนแห่งนี้ได้รับการอนุรักษ์มาจนถึงปัจจุบันและได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น นอกจากนี้ยังเป็นสถานศึกษาที่ผลิต “เจ้าสัว” ในไทยมากที่สุด
ต่อจากนั้น คณะได้แวะชม “มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก” มัสยิดโบราณสไตล์ยุโรปหนึ่งเดียวในย่านนี้ พร้อมแวะชมบ้านร้างคหบดีเก่า และพักดื่มน้ำชาที่ร้าน Bllue Mandarin เพื่อรับฟังเรื่องราวความเป็นมาของถนนทรงวาดจากมุมมองของอาจารย์สมชัย กวางทองพาณิชย์ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น หรือคนทรงวาดอีกรุ่น ซึ่งได้ฉายภาพอดีตให้เห็นถึงความมั่งคั่งสูงสุดของย่านนี้ และจุดพลิกผันเมื่อมีการห้ามรถบรรทุกเข้า-ออก ในปีพ.ศ.2530 ผนวกกับการขนส่งทางเรือเริ่มลดน้อยถอยลง ทำให้การค้าย่านนี้ซบเซาลงนับแต่นั้น
สำหรับหมุดหมายสุดท้ายของทริปนี้ คือ วัดสัมพันธวงศ์ (วัดเกาะ) หลังจากนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพระอุโบสถแล้ว อาจารย์นวลได้นำชมพร้อมเล่าประวัติของธรรมมาสน์ซึ่งเป็นเครื่องสังเค็ดที่ทางวัดได้รับพระราชทานจากงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ใน พ.ศ. 2453 จากนั้นได้มอบโปสการ์ดรูปถ่ายสถานที่สำคัญของถนนทรงวาด ให้เป็นของที่ระลึกพร้อมประทับตราปั๊มซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกิจกรรมครั้งนี้
ด้าน น.ส.เบญญาภา เวียงมูล (น้องเบญ) หนึ่งในผู้ร่วมคณะทัวร์เล่าถึงความรู้สึกหลังจบทริป ว่า เคยมาเดินเล่นแถวเยาวราช และเดินหลงมาถนนเส้นนี้ เกิดหลงเสน่ห์เข้าอย่างจัง เพราะชอบความ ชิคๆ คูลๆ ของตึกเก่า แม้บางตึกจะร้างแต่ก็ยังมีความสวย ซึ่งตอนนั้นไม่กล้าเดินเที่ยวคนเดียวเพราะมันดูวังเวงมาก ภายหลังเริ่มมีคนหยิบยกถนนเส้นนี้ขึ้นมาโปรโมท จุดเช็คอิน รวมถึงสถานที่น่าสนใจ ตนเองเรียนด้านสถาปัตย์และอยากรู้ประวัติของตึกเก่าเหล่านี้ จึงตัดสินใจร่วมทริปทันที ทัวร์นี้ตอบโจทย์ความรู้ที่เราต้องการมาก ได้เรียนรู้อะไรมากมาย และเข้าใจรูปแบบของสถาปัตยกรรมในถนนทรงวาดมากขึ้น ประวัติศาสตร์จะบอกรูปแบบของสถาปัตยกรรมได้ดี เช่น เก้าอี้ที่ยื่นออกมาในโกดังเก่ามีไว้เพื่อทำอะไร สถาปัตยกรรมการออกแบบล้วนมีฟังก์ชั่นของมัน สมัยก่อนเกิดคำถามในหัวทำไมที่ร้างๆแห่งนี้ ถึงมีคาเฟ่ได้ พอได้มาร่วมทริปนี้จึงรู้ว่าทรงวาดเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจมาก สังคมเล็กๆแห่งนี้ในอดีตเป็นแหล่งกำเนิดของเจ้าสัวไทยหลายคนและอาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่อาจทำให้มองเห็นภาพใหญ่ของกรุงเทพได้ อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณทีมผู้จัดกิจกรรมในครั้งนี้ ที่ได้ถ่ายทอดข้อมูลเชิงลึกของสถานที่แห่งนี้ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
หลังจบทริปในวันนั้น ผู้ร่วมคณะทัวร์ต่างอิ่มเอมและสัมผัสได้ถึงความมีเสน่ห์ของตึกเก่าโบราณที่กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ด้วยการฉายภาพอดีตจากการบอกเล่าของวิทยากรซึ่งเป็นคนทรงวาดเอง ทำให้เห็นถึงภาพความคึกคักของย่านการค้าสำคัญสมัยกรุงสยามพร้อมความรู้ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเก่าแก่ของผู้คนย่านนี้ เรียกว่า เหมือนได้นั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปเลยทีเดียว